LIFESTYLE

21 เมษายน 2564 : 12:51 น.

โควิดกับปัญหาการค้าสินค้าผิดกฎหมายในอาเซียน

ท่ามกลางภัยคุกคามด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดทั้งปี 2563 ที่ผ่านมา ปัญหาหนึ่งที่ถูกตีแผ่ให้เห็นกันมากขึ้นในกลุ่มประเทศอาเซียนก็คือปัญหาการค้าสินค้าผิดกฎหมาย เริ่มตั้งแต่การค้าหน้ากากอนามัยที่ปลอมแปลงตราสินค้า การลักลอบนำเข้าชุดป้องกัน PPE และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ ที่ปลอมแปลงตราสินค้า

สภาธุรกิจยุโรป-อาเซียน (EU-ASEAN Business Council หรือ EU-ABC) ได้จัดทำรายงาน Tackling Illicit Trade in ASEAN Advocacy Paper 2020 ขึ้น เพื่อสะท้อนสภาพปัญหาการค้าสินค้าผิดกฎหมายต่างๆในอาเซียนในปี 2563 ซึ่งปัญหานี้แม้จะมิใช่ปัญหาใหม่ แต่สภาพเศรษฐกิจที่หดตัวอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้มีผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นหันไปเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาถูกลง โดยผู้บริโภคบางส่วนก็อาจรู้เท่าไม่ถึงการว่ากำลังซื้อสินค้าผิดกฎหมายอยู่ ขณะที่รัฐบาลในหลายประเทศก็อาจมีนโยบายที่จะส่งเสริมความสะดวกทางการนำเข้า-ส่งออกมากขึ้นเพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ จึงอาจเกิดความหละหลวมในการตรวจสอบสินค้าที่มีขนส่งระหว่างประเทศ

รายงานดังกล่าวระบุว่า การค้ายาปลอมในอาเซียนอาจมีมูลค่าสูงถึงปีละ 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ขณะที่รายได้ภาษีของรัฐในอาเซียนที่สูญเสียไปกับการค้าบุหรี่ผิดกฎหมายอาจมีมูลค่าสูงถึงปีละ 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการค้าสินค้าผิดกฎหมายอาจเป็นแหล่งรายได้ให้แก่องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติต่างๆ ขณะที่การค้าสินค้าผิดกฎหมายที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลกระทบต่อรายได้ภาษีของรัฐที่จำเป็นจะต้องนำไปใช้ฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ต่อไป ดังนั้น รัฐบาลในอาเซียนจึงควรเร่งดำเนินการป้องกันและปราบปรามปัญหาการค้าสินค้าผิดกฎหมายอย่างจริงจัง

กลุ่มสินค้าที่มีปัญหาการค้าสินค้าผิดกฎหมายอย่างมากได้แก่ ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของเล่นเด็ก ชิ้นส่วนยานยนต์ ยา และเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร โดยรายงานฯ ประมานการณ์ว่าปริมาณบุหรี่ผิดกฎหมายที่มีการลักลอบในประเทศอาเซียนอาจมีมากถึงกว่า 66,000 ล้านมวนต่อปี โดยสำหรับประเทศไทยอาจมีปริมาณปีละเกือบ 2,500 ล้านมวนต่อปี ซึ่งสร้างความสูญเสียต่อรายได้ภาษีของไทยปีละราว 226.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (หรือราว 7 พันล้านบาทต่อปี) ขณะที่องค์การอนามัยโลกได้คาดการณ์ว่าอาเซียนจะกลายเป็นภูมิภาคที่มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผิดกฎหมายมากที่สุดภายในปี 2568 ด้วยปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผิดกฎหมายประมาณ 4.5-6.2 ลิตรต่อคน นอกจากนี้ การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือมาตรการจำกัดการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีการบังคับใช้มากขึ้นตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้สร้างแรงจูงใจให้เกิดการลักลอบค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ รายงานฯ ระบุว่าสินค้าที่มีการลักลอบนำเข้ากันมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ก็คือยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นสองสินค้าที่ถูกเก็บภาษีในอัตราสูงในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยรายงานฯ เสนอแนะว่าการเก็บภาษีจากสินค้าดังกล่าวจะช่วยเพิ่มรายได้ภาษีเข้ารัฐก็ด้วยสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมทางศุลกากรที่โปร่งใส มีการเฝ้าระวังและตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ มีการใช้โครงสร้างภาษีที่เรียบง่ายและในระดับที่เหมาะสม และมีบูรณาการเชิงนโยบายในระยะยาวเท่านั้น หากไม่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมดังกล่าวนี้ได้ การเก็บภาษีหรือขึ้นภาษีก็มีแต่จะสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลักลอบนำเข้าสินค้าหนีภาษี ซึ่งจะได้ผลประโยชน์อย่างมหาศาล

นอกจากนี้ การค้าชิ้นส่วนยานยนต์ปลอมแปลงตราสินค้าก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่แพร่หลายมากขึ้นในอาเซียน โดยรายงานดังกล่าวได้ยกตัวอย่างประเทศไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาค แต่ปัญหาการค้าชิ้นส่วนยานยนต์ปลอมกลับน่าวิตกมากขึ้น ทั้งนี้ ชิ้นส่วนปลอมแปลงตราสินค้าที่พบมากที่สุดในอาเซียน ได้แก่ ผ้าเบรคและถุงลมนิรภัย ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มีความสำคัญต่อความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารมากที่สุด

สินค้าผิดกฎหมายที่กลายเป็นปัญหามากขึ้นอีกชนิดหนึ่งก็คือยารักษาโรค มีรายงานของสหประชาชาติที่ระบุว่าผู้ผลิตยาปลอมรายใหญ่ทั้งในจีนและอินเดียได้เริ่มเข้ามาตั้งโรงงานผลิตยาปลอมในอาเซียนแล้ว ทั้งในกัมพูชา เวียดนาม เมียนมาร์ และมาเลเซีย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมากสำหรับความปลอดภัยและสุขภาพของประชาชนในอาเซียน เนื่องจากยาปลอมนอกจากอาจจะไม่มีส่วนประกอบออกฤทธิ์ที่สำคัญแล้ว ยังอาจมีส่วนประกอบที่เป็นอันตรายถึงชีวิตด้วย

ทั้งนี้ อีคอมเมิร์ซได้กลายมาเป็นช่องทางการค้าสินค้าผิดกฎหมายในอาเซียนมากขึ้น โดยมีการประมานการณ์ว่า การค้าสินค้าผิดกฎหมายและการฉ้อโกงผ่านอีคอมเมิร์ซได้สร้างความเสียหายต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราวปีละ 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซจำนวนมากที่ยังขาดความรู้เกี่ยวกับการฉ้อโกงในช่องทางการค้าดังกล่าว

ในการจัดการกับปัญหาการค้าสินค้าผิดกฎหมายในอาเซียน รายงานฉบับนี้ได้เสนอให้ภาคเอกชนเองเพิ่มความร่วมมือระหว่างกันในการตรวจสอบและจัดการกับผู้ค้าสินค้าผิดกฎหมายและสร้างระบบหรือเครื่องมือเพื่อการตรวจสอบสินค้าปลอมแปลงที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐก็ควรดำเนินการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นยิ่งขึ้น รวมทั้งต้องเพิ่มบทลงโทษตามกฎหมายให้มีโทษทางอาญาที่รุนแรงพอที่จะป้องปรามการการกระทำความผิด และให้มีการฟ้องร้อง ดำเนินคดีที่เป็นรูปธรรมด้วย

ในสถานการณ์ที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยและของอาเซียนเดือดร้อนอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 หวังว่ารัฐบาลจะไม่ปล่อยให้คนแค่บางกลุ่มฉวยโอกาสหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่เพียงแต่จะซ้ำเติมพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนทั้งด้านเศรษฐกิจและสุขภาพแล้ว ยังทำให้รัฐเองสูญเสียรายได้ที่จะเอาไปเยียวยาและเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้อย่างเร็วที่สุดด้วย หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ทั้งตำรวจ ทหาร ศุลกากร สรรพสามิต สรรพากร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงดิจิตอลฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ฯลฯ น่าจะทำงานที่บูรณาการและมีแผนปฏิบัติการที่มีเป้าหมายและแผนงานที่เป็นรูปธรรม

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาล ทั้งนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนหัวหน้าและเจ้าหน้าที่ภาคปฏิบัติในหน่วยงานต่างๆ จะเริ่มเอาจริงเอาจังในการปราบปรามการค้าสินค้าผิดกฎหมายให้เป็นรูปธรรมเสียที หากละเลยปล่อยให้ปัญหาหนักขึ้นเรื่อยๆ ก็จะมีแต่อำนวยความสะดวกให้กลุ่มขบวนการค้าสินค้าผิดกฎหมาย สร้างความสูญเสียให้รายได้ภาษีของรัฐ ชีวิตและสุขภาพของประชาชนไปมากขึ้นกว่านี้

ที่มา Tackling Illicit Trade in ASEAN Advocacy Paper, 2020 https://www.tracit.org/uploads/1/0/2/2/102238034/illicit_trade_paper_final_final.pdf

ข่าวที่น่าสนใจ