นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการเร่งรัดการส่งออกในยุค New Normal
ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ซึ่งกรมฯ ได้จัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจการค้าออนไลน์สินค้าเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ เมื่อวันที่ 23-26 มีนาคม 2564 ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกได้จัดกิจกรรมจับคู่เจรจาการค้าออนไลน์สินค้าชุดป้องกันทางการแพทย์ PPE และชุดเสื้อคลุม เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
สำหรับครั้งนี้ ได้เพิ่มสินค้านวัตกรรมทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์ ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีเกินคาด มีมูลค่าซื้อขายคาดการณ์ภายใน 1 ปี 118.40 ล้านบาท โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้เล็งเห็นถึงการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสสำหรับการขยายช่องทางตลาดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 (COVID-19) รวมถึงแนวโน้มความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับสินค้าเครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์ชุดป้องกัน PPE และสินค้านวัตกรรมทางการแพทย์อื่นๆ ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย ผู้ที่มีความเสี่ยง หรือประชาชนทั่วไปในแต่ละประเทศทั่วโลก ให้สามารถรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ทันท่วงที
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจการค้าออนไลน์ดังกล่าว มีผู้ประกอบการไทยจำนวนทั้งสิ้น 26 ราย เข้าร่วมเจรจาการค้ากับผู้นำเข้าที่มีศักยภาพ และผ่านการคัดเลือกจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ทั่วโลก จำนวน 44 ราย จากต่างประเทศกว่า 20 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินเดีย อิสราเอล สิงคโปร์ จีน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น มาเลเซีย กัมพูชา ไนจีเรีย ซาอุดีอาระเบีย สเปน ชิลี เมียนมา บังกลาเทศ สปป.ลาว เคนยา ฮังการี และไต้หวัน ทั้งนี้ เกิดการจับคู่เจรจาธุรกิจรวม 104 คู่เจรจา และมีผลการเจรจาการค้าคาดการณ์ภายใน 1 ปี คิดเป็นมูลค่ารวม 118.40 ล้านบาท
สำหรับการเจรจาการค้าระหว่างผู้นำเข้าจากต่างประเทศทั่วโลกและผู้ประกอบการไทยครั้งนี้ พบว่า หลายประเทศให้ความสนใจที่จะสั่งซื้อสินค้า ไม่ว่าจะเป็นผู้นำเข้าจากมาเลเซีย ไต้หวัน อินเดีย และรัสเซีย ที่สนใจสินค้าเข็มฉีดยา เนื่องจากความต้องเข็มฉีดยาสำหรับการฉีดวัคซีนในช่วงสถานการณ์ COVID-19 พุ่งสูงขึ้น ผู้นำเข้าจากญี่ปุ่น ที่สนใจแคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิดสำหรับเข้าเครื่อง CT Scan และผู้นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา อิสราเอล สเปน สปป.ลาว และเมียนมา ที่ยังคงให้ความสนใจชุด PPE ชุดคลุมป้องกันรังสี X-ray และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแบบใช้แล้วทิ้งสำหรับการใช้งานในโรงพยาบาล
เนื่องจากภาพรวมของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยกำลังขยายตัวด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 9-10% ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยปี 2563 สินค้าเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์มีมูลค่าการส่งออกรวม 23,314.01 ล้านบาท และสินค้าถุงมือยางมีมูลค่าการส่งออกรวม 72,680.38 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และศูนย์กลางการส่งออกเครื่องมือแพทย์ (Medical Hub) การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ส่งผลให้ผู้นำเข้าได้รับรู้ถึงศักยภาพของไทยที่พร้อมเป็นประเทศส่งออกสินค้าเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ อีกทั้งยังรับรู้ว่า ไทยมีการผลิตสินค้าที่มีได้มาตรฐานสากล มีคุณภาพ ความน่าเชื่อถือ และความหลากหลายที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ