'ครูก้อย'แบ่งปันประสบการณ์การตรงเพื่อผู้มีบุตรยากสร้างโอกาสคุณแม่เตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์จากงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ
"ภาวะมีบุตรยาก" หมายถึง ภาวะที่คู่สมรส ไม่สามารถมีบุตรได้ ทั้งที่มีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ นับวันไข่ตก และไม่ได้คุมกำเนิด โดยแบ่งเป็นผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 35 ปี ที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ภายใน 1 ปี และผู้หญิงอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปที่ไม่สามารถมีบุตรได้ ภายในเวลา 6 เดือน
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) สาเหตุการมีบุตรยากที่มาจากฝ่ายชาย ได้ แก่ คุณภาพของสเปิร์ม ส่วนสาเหตุจากฝ่ายหญิงจะพบได้มากกว่า เนื่องจากระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงมีความซับซ้อนที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติได้ในหลายประการ เช่น ปัญหาเรื่องรังไข่ คุณภาพของไข่ ความผิดปกติของรอบเดือน มดลูก ท่อนำไข่อุดตัน เนื้องอกมดลูก ซีสต์รังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นต้น
ครูก้อย นัชชา ลอยชูศักดิ์ ครูวิทยาศาสตร์ที่ผันตัวมาเป็นที่ปรึกษาด้านการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่กระบวนการทางแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยากและผู้ก่อตั้งเพจ Babyandmom.co.th สำหรับผู้มีบุตรยาก เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การตรงด้านมีบุตรยากที่เคยผ่านกระบวนการรักษาผู้มีบุตรยากมาทุกขั้นตอน พร้อมศึกษางานวิจัยจากผู้มีบุตรยากและการเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์จากงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ
จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลงานวิจัย ครูก้อย นัชชา ลอยชูศักดิ์ ได้สรุปปัจจัยหลัก 3 ประการในการตั้งครรภ์ ไว้ดังนี้
1.ไข่
คือ วัตถุดิบตั้งต้นของการตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์เริ่มต้นที่เซลล์ไข่ที่สมบูรณ์ได้พบกับสเปิร์มที่แข็งแรง ปฏิสนธิกลายเป็นตัวอ่อน ฝังตัวในมดลูกและเติบโตในครรภ์ต่อไป ดังนั้นไข่ใบน้อยๆ ใบนี้จะกลายไปเป็นลูกน้อยในอนาคต ในร่างกายเรามีเซลล์หลายล้านเซลล์ ไข่ก็คือเซลล์ และเป็นเซลล์สืบพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย แต่เซลล์ไข่อ่อนไหวต่ออนุมูลอิสระมากๆ เซลล์ไข่เสื่อมง่าย เสียหายง่าย ฝ่อง่ายจากการทำลายของอนุมูลอิสระที่เกิดจากกระบวนการออกซิเดชั่นที่เกิดขึ้นในร่างกายเราทุกวัน ดังนั้นเซลล์ไข่ที่ไม่มีคุณภาพจึงเป็นปัญหาหลักที่สำคัญที่สุดจากฝ่ายหญิงที่ทำให้มีบุตรยาก
ผู้หญิงมีเซลล์ไข่กว่า 6-7 ล้านเซลล์ติดตัวมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ฟังดูเหมือนไข่มีจำนวนเยอะมาก แต่รู้หรือไม่ว่านับตั้งแต่วันที่ผู้หญิงเราคลอดออกมาเซลล์ไข่จะเหลือเพียง 1-2 ล้านเซลล์ และจากนั้นไข่ก็จะฝ่อไปเรื่อยๆ ทั้งจากอายุที่มากขึ้น และจากการถูกทำลายจากอนุมูลอิสระ จนเมื่อถึงวัยมีประจำเดือน ไข่จะเหลือแค่ประมาณ 7 แสนใบ แต่ทั้งนี้จะมีไข่ที่มีผลทำให้ตั้งครรภ์ได้เพียงแค่ 400-500 ฟองเท่านั้น เพราะการตกไข่แต่ละครั้งจะมีไข่เพียงฟองเดียวที่สมบูรณ์และกว่าจะถึงวัยเจริญพันธุ์ หรือเมื่อถึงเวลาที่เราพร้อมมีลูกไข่ของผู้หญิงเราก็เหลือน้อยลงและเสื่อมคุณภาพลงเรื่อยๆ
สาเหตุหลักที่ทำให้เซลล์ไข่เสื่อมคุณภาพ
1.อายุของฝ่ายหญิงที่เพิ่มขึ้น
นอกจากเซลล์ไข่จะลดจำนวนลงแล้ว ความผิดปกติทางโครโมโซมของเซลล์ไข่ก็จะเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยผู้หญิงวัย 35 ขึ้นไปถือเป็นช่วงขาลงของวัยเจริญพันธุ์ ในทางการแพทย์ คุณภาพของเซลล์ไข่ (Egg Quality) เชื่อมโยงถึง "ความปกติทางโครโมโซมของไข่" โดยไข่ที่โครโมโซมปกติ เรียกว่า "euploid" ส่วนไข่ที่มีโครโมโซมผิดปกติเรียกว่า "aneuploid" ซึ่งไข่ที่มีโครโมโซมปกติ (Chromosomally normal egg) จะมีโครโมโซม 23 แท่ง เมื่อมีการปฏิสนธิจากอสุจิของฝ่ายชายที่มีโครโมโซมปกติอีก 23 แท่ง ตัวอ่อนที่สมบูรณ์ก็จะมีโครโมโซมรวม 46 แท่ง ความสัมพันธ์ของอายุกับคุณภาพของไข่ก็คือ เมื่ออายุมากขึ้น โอกาสที่จะมีไข่ที่มีโครโมโซมผิดปกติ (aneuploid) เพิ่มขึ้น ไข่ที่มีโครโมโซมผิดปกติ คือมีจำนวนโครโมโซมมาก หรือ น้อยกว่า 23 แท่ง
โดยสถิติความผิดปกติของโครโซมของเซลล์ไข่ในแต่ละช่วงอายุปรากฏตามข้อมูล ดังนี้
· อายุ 25 โครโมโซมผิดปกติ 25%
· อายุ 35 โครโมโซมผิดปกติ 50%
· อายุ 40 โครโมโซมผิดปกติ 85-90%
ซึ่งไข่ที่มีโครโมโซมผิดปกติอาจส่งผลให้
· อัตราการปฏิสนธิต่ำ (low fertilization rate)
· ตัวอ่อนไม่ฝังตัว (embryo fails to implant in the uterus)
· แท้งในระยะเริ่มแรก (early miscarriage)
· ทารกเป็นดาวน์ซินโดรม (Down syndrome)
2.อนุมูลอิสระ
อนุมูลอิสระส่งผลต่อความเสื่อมของเซลล์ไข่และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้โครโมโซมเซลล์ไข่ผิดปกติ โดยทั่วไปแล้วในร่างกายมีการสร้างอนุมูลอิสระออกมาตลอดเวลาจากกระบวนการเผาผลาญสารอาหาร อนุมูลอิสระส่วนใหญ่มีอะตอมของออกซิเจนที่ไวต่อการทำปฏิกริยาออกซิเดชัน หรือเรียกว่า Reactive Oxygen Species (ROS) ซึ่งสร้างความเสียหายแก่เซลล์ หากร่างกายเรามีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) ที่จะมาจัดการกับ ROS ไม่เพียงพอจะทำให้เซลล์ต่างๆถูกทำลายจนเสื่อมไปเรื่อยๆ รวมถึงเซลล์ไข่ของผู้หญิงด้วย
มีงานวิจัยศึกษาพบว่า สาเหตุหลักของการทำเด็กหลอดแก้วแล้วไม่ประสบความสำเร็จมาจากตัวอ่อนที่ไม่สมบูรณ์ (รองลงมาคือปัญหาเรื่องผนังมดลูก) ซึ่ง ตัวอ่อนที่ไม่สมบูรณ์อาจมาจากโครโมโซมผิดปกติ สืบเนื่องมาจากเซลล์ไข่มีความเสื่อมจากอนุมูลอิสระ หรือไข่ที่ไม่สมบูรณ์ตั้งแต่ต้นนั่นเอง เมื่อเกิดการรวมตัวกับ DNA แล้วทำให้โมเลกุลของ DNA เปลี่ยนไป ส่งผลให้โครโมโซมเสียหาย หรือเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันที่ชั้น lipid ซึ่งเป็นองค์ประกอบในผนังเซลล์ทำให้เซลล์ไข่เสื่อมสภาพ (Oocyte aging)
นอกจากนี้อนุมูลอิสระจะสร้างความเสียหายต่อเซลล์ไข่ได้มากยิ่งขึ้นในกระบวนการ “ทำเด็กหลอดแก้ว” เนื่องจากเซลล์ไข่ที่เก็บออกมา จะไม่มีของเหลวที่เรียกว่า “follicular fluid” ป้องกันอยู่เหมือนในร่างกายมนุษย์ ทำให้เซลล์ไข่ถูกทำลายและเสื่อมสภาพเร็วขึ้นไปอีก
สำหรับผู้หญิงที่มีบุตรยาก ที่ต้องใช้วิธีการทำเด็กหลอดแก้ว (ICSI) การมีเซลล์ไข่ที่มีคุณภาพเป็นการเพิ่มโอกาสในการได้ตัวอ่อนที่สมบูรณ์ ส่งผลต่อโอกาสในความสำเร็จ อย่างไรก็ตามการทำเด็กหลอดแก้วเป็นการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในการคัดเลือกไข่และอสุจิตัวที่ดีที่สุด ซึ่งเทคโนโลยีช่วยในการคัดเลือกไข่ที่ดีได้ แต่ไม่สามารถทำให้ไข่มีคุณภาพได้
"คุณภาพของไข่" ขึ้นอยู่กับการบำรุงและสภาพความสมบูรณ์ของร่างกายของผู้หญิงที่เตรียมตั้งครรภ์ ต้องเตรียมบำรุง "วัตถุดิบตั้งต้น" ไปให้พร้อมก่อนเข้าสู่กระบวนการทางการแพทย์ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการเตรียมเซลล์ไข่ให้มีคุณภาพที่ดีที่สุด และถูกทำลายน้อยที่สุดก่อนเข้ากระบวนการทางการแพทย์ด้วยการทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระให้เพียงพอ
ในกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว หลังจากการกระตุ้นไข่ จะมีการเก็บไข่เพื่อนำไปปฏิสนธิ ซึ่งไข่ที่เก็บมาได้นั้นไม่ได้หมายความว่าใช้ปฏิสนธิได้ทุกใบ แพทย์จะเลือกเฉพาะ "ไข่สุก" เท่านั้นที่สามารถนำไปปฏิสนธิต่อไปได้ ส่วนใบที่เป็นไข่อ่อนจะไม่สามารถนำไปปฏิสนธิได้ ซึ่งไข่สุก คือ ไข่ที่มีแนวโน้มการแบ่งเซลล์เป็นปกติ หรืออยู่ในระยะ Metaphase II (MII) พร้อมที่จะทำการปฏิสนธิได้ ส่วน Metaphase I (MI) เป็นระยะไข่อ่อนที่ยังไม่พร้อมที่จะทำการปฏิสนธิค่ะ และ Abn. เป็นไข่ที่รูปร่างผิดปกติ เช่น มี 2 Polar Body หรือ มีรูปร่างผิดปกติจากการแตกหักของเซลล์ เป็นต้น
ซึ่งเมื่อเก็บไข่ออกมาแล้ว "ไข่สุก" จะดูจาก โพลาร์บอดี้ (Polar Body) หรือ “PB” คือ จุดเล็กๆ ที่อยู่บนเซลล์ไข่ เป็นตัวที่บอกว่าไข่ใบนั้นสุกแล้ว ถ้าไข่อ่อนจะไม่มีจุดเล็กๆ นี้
นอกจากดูจาก โพลาร์บอดี้ (Polar Body) แล้ว ก็ต้องดูคุณภาพของเซลล์ไข่ด้วย โดยประเมินได้จาก
· ความเรียบเนียนเนื้อไข่
· ความยืดหยุ่นขณะทำ ICSI (จับสเปิร์มเจาะไข่)
· รูปร่างทั่วไป มี 1 polar body และจุดไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป
· สี ไม่คล้ำ ไม่มีขยะเซลล์
· ไซโตพลาสซึมมีลักษณะไม่หยาบ สีไม่คล้ำ
· เซลล์ไข่ที่ดี ไม่ควรมีช่องว่างระหว่างไซโตพลาสซึม กับ zona pellucida (perivitelline space) มากเกินไป
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าคุณภาพของเซลล์ไข่ การเจริญเติบโตของไข่ที่สมบูรณ์ (ไข่สุก) ต้องสร้างมาจากภายในร่างกายของผู้หญิง ไม่สามารถมาเพิ่มคุณภาพในภายหลังที่เก็บออกมาแล้วได้
มีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการทานอาหารและภาวะเจริญพันธุ์ (The influence of diet on fertility) หลายฉบับ ศึกษาพบว่า การทานอาหารที่มีโปรตีนสูงและอาหารที่มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระจะช่วยบำรุง ซ่อมแซมเซลล์และปกป้องเซลล์ไข่จากการถูกทำให้เสียหายจากอนุมูลอิสระทำให้เซลล์ไข่สมบูรณ์ขึ้น เป็นการเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ได้
โดย “ครูก้อย” ได้แนะนำให้ผู้ที่ติดตามในเพจ babyandmom.co.th ให้เน้นการรับประทานโปรตีน ลดคาร์โบไฮเดรตลง ทานไขมันดี และเน้นสารต้านอนุมูลอิสระ การทานอาหารแบบนี้จะส่งผลต่อเซลล์ไข่ที่สมบูรณ์ ฮอร์โมนที่สมดุลและส่งผลต่อวงจรการตกไข่ที่เป็นปกติอีกด้วย ถึงแม้จะมีไข่น้อย แต่ถ้าเป็น "ไข่ที่มีคุณภาพ" ก็มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ ดังนั้น ผู้หญิงเตรียมตั้งครรภ์ต้องรู้จักบำรุงเซลล์ไข่ของเราให้มีคุณภาพ เป็น "ไข่ทองคำ" ที่จะกลายมาเป็นเบบี๋ของเราในอนาคต
2. มดลูก
มดลูก คือ บ้านหลังแรกของลูก เมื่อไข่ที่สมบูรณ์ปฏิสนธิกับสเปิร์มที่แข็งแรง เกิดเป็นตัวอ่อนคุณภาพดี ตัวอ่อนก็จะค่อยๆ แบ่งเซลล์และเดินทางเข้ามาฝังตัวที่บ้านหลังนี้ ดังนั้นมดลูกต้องแข็งแรงและสมบูรณ์พร้อมที่สุด ตัวอ่อนจึงจะมาฝังตัวได้อย่างอยู่รอดปลอดภัย และเติบโตเป็นครรภ์ที่สมบูรณ์แข็งแรง
ในการทำเด็กหลอดแก้ว (ICSI) นั้นหลังจากทำการเก็บไข่และนำไปผสมกับอสุจิเกิดการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนแล้ว ก็จะมีการเลี้ยงตัวอ่อนในห้องแล็บจนถึงระยะบลาสโตซิสต์ ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสมในการย้ายตัวอ่อนกลับเข้ามาใส่ในโพรงมดลูก
ดังนั้นผู้หญิงที่อยู่ในกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว (ICSI) จึงต้องเตรียมมดลูกให้พร้อมก่อนย้ายตัวอ่อน ซึ่งขั้นตอนการเตรียมผนังมดลูกเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่ผู้หญิงมีบุตรยากต้องให้ความสำคัญ เพราะมันเป็นปัจจัยหลักอีกประการหนึ่งที่จะชี้ว่าตัวอ่อนจะฝังตัวได้หรือไม่ เราจะท้องหรือไม่ในรอบนี้
โดยผนังมดลูกที่สมบูรณ์พร้อมตามเกณฑ์ที่เหมาะสมในการฝังตัวของตัวอ่อนมีลักษณะดังนี้
1.ผนังมดลูกต้องหนา 8-10 มิลลิเมตร (ไม่ควรหนาเกิน 14 มิลลิเมตร)
2.เรียง 3 ชั้นสวย (Triple lines) ผิวเรียบเห็นเส้นกลางชัดเจน
3.ใสเป็นวุ้น สะอาด ไม่หนาทึบทับถมด้วยประจำเดือนเก่าที่คั่งค้าง
4.มดลูกอุ่น คือ มีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอย่างเพียงพอ ไม่มีสารพิษตกค้าง
โดย “ครูก้อย นัชชา” ได้ให้คำแนะนำนำกับผู้หญิงที่มีบุตรยากและผู้หญิงที่เตรียมตั้งครรภ์ ว่า ควรให้ความสำคัญกับการเตรียมมดลูกให้ได้ตามเกณฑ์ก่อนย้ายตัวอ่อน ซึ่งทำได้ด้วยหลักโภชนาการที่ถูกต้อง การรับประทานโปรตีนให้เพียงพอเพื่อสร้างผนังมดลูกให้แข็งแรง ทานอาหารที่มีฤทธิ์อุ่น ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงมดลูก เช่น น้ำขิง และดื่มน้ำมะกรูดคั้นสดที่มีสารไบโอฟลาโวนอยด์สูงช่วยให้เลือดสูบฉีดและทำให้เส้นเลือดฝอยที่โอบอุ้มมดลูกแข็งแรง ลดการอักเสบติดเชื้อที่มดลูก
นอกจากนี้การบำบัดหรือดีท็อกซ์สารพิษจากการใช้ฮอร์โมนที่คั่งค้างในมดลูกก็มีความสำคัญ เสมือนเป็นการเคลียร์มดลูกให้สะอาดพร้อมรับการฝังตัว ทำได้ด้วยการ “ดื่มชาดอกคำฝอย” เพื่อขับลิ่มเลือดประจำเดือนเก่าที่คั่งค้าง และ “การแพ็คน้ำมันละหุ่ง (Castor Oil Pack)” เพื่อขับล้างสารพิษที่คั่งค้างจากการใช้ฮอร์โมน ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ส่งผลให้ระบบสืบพันธุ์และอวัยวะภายในทำงานได้ดีขึ้น
3. ฮอร์โมนที่สมดุล
ฮอร์โมนเปรียบเสมือนน้ำที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิต ฮอร์โมนเป็นตัวควบคุม และกระตุ้นการทำงานของระบบต่างๆในร่างกายให้เป็นไปอย่างปกติ รวมไปถึงฮอร์โมนเพศด้วย ในการตั้งครรภ์นั้น ฮอร์โมนเพศต้องสมดุลจึงจะส่งผลให้มีลูกง่าย เพราะฮอร์โมนมีผลตั้งแต่การผลิตไข่ การกระตุ้นไข่ให้มีการเจริญเติบโต ฮอร์โมนทำให้ไข่ตกออกจากถุงไข่ รวมถึงการทำให้ผนังมดลูกฟอร์มหนาตัวขึ้นเพื่อเพิ่มความพร้อมให้ตัวอ่อนฝังตัว
สำหรับการทำเด็กหลอดแก้ว ( ICSI ) นั้น การตรวจฮอร์โมนเป็นสิ่งสำคัญที่แพทย์จะนำผลมาพิจารณาการเลือกวิธีการรักษา การให้ยา หรือประเมินความสำเร็จในการรักษาได้ในเบื้องต้น ซึ่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องได้แก่
· AMH บอกจำนวนฟองไข่ตั้งต้น
· E2 หรือ เอสตราไดออล ฮอร์โมนเพศหญิง บอกถึงความเจริญเติบโตของไข่ ไข่สุก
· FSH บอกความเสื่อมของรังไข่ ประสิทธิภาพของรังไข่
· LH ฮอร์โมนการตกไข่
· TSH ฮอร์โมนไทรอยด์ หากพบฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติจะส่งผลต่อความสมดุลของการสร้างฮอร์โมนเพศ
· PRL ฮอร์โมนน้ำนม หากมีค่าสูงจะกดวงจรการตกไข่ ทำให้ไข่ไม่ตก
ซึ่งสาเหตุที่ฮอร์โมนไม่สมดุลอาจมาจากภาวะ PCOS (ภาวะถุงน้ำหลายใบในรังไข่) การทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ น้ำหนักมากหรือน้อยเกินไป หรือ ความเครียด โดยผู้หญิงที่มีบุตรยากต้องหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาออกกำลังกายควบคุมน้ำหนัก พักผ่อนให้เพียงพอและปรับการรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการเพื่อปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย เมื่อฮอร์โมนกลับมาสมดุล การทำงานของระบบสืบพันธุ์ปกติจะช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์
ดังนั้นการให้ความสำคัญกับการบำรุงไข่ให้มีคุณภาพ โตสมบูรณ์พร้อมปฏิสนธิ บำรุงผนังมดลูกให้แข็งแรง หนา ใส สวยอุ่น รวมถึงปรับฮอร์โมนให้สมดุลจึงเป็นหัวใจหลักที่จะเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยหลักโภชนาการที่ถูกต้อง การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ บำรุงก่อนตั้งครรภ์อย่างถูกต้อง ถูกวิธี และต่อเนื่อง เบบี๋มาไม่นานเกินรอ “ครูก้อย” นัชชา ลอยชูศักดิ์ กล่าว