.
สาธารณสุขอังกฤษ หรือ Public Health England (PHE) หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษยังคงศึกษาการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้ชาวอังกฤษเลิกบุหรี่ได้ภายในปี 2573 โดยได้เผยรายงานล่าสุดซึ่งเป็นฉบับที่ 7 จัดทำโดยนักวิจัยจากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ในหัวข้อ การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในอังกฤษ: หลักฐานล่าสุดซึ่งรวมถึงการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 (Vaping in England: an evidence update including vaping for smoking cessation, February 2021) ระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้าได้รับความนิยมมากที่สุดในฐานะเครื่องมือในการเลิกบุหรี่ในปี 2563
จากรายงานในปี 2563 พบว่า บุหรี่ไฟฟ้าได้รับความนิยมในฐานะตัวช่วยเลิกสูบบุหรี่ ถึง 27.2% ขณะที่ผลิตภัณฑ์นิโคตินทดแทน (NRT) (เช่น แผ่นแปะและหมากฝรั่ง) มีผู้ใช้ 18.2% และยาวาเรนิคลิน (Varenicline) ซึ่งใช้ตามใบสั่งแพทย์มีผู้ใช้ 4.4 % โดยมีตัวเลขประมาณการว่าในปี 2560 ผู้สูบบุหรี่กว่า 50,000 คนสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า
และการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในวิธีการเลิกบุหรี่ในศูนย์บริการเลิกบุหรี่ท้องถิ่น ที่มีอัตราความสำเร็จอยู่ระหว่าง 59.7% ถึง 74% ในปี 2562 และ 2563
สถิติผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าอยู่ในระดับเดียวกันกับปีก่อน ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นผู้ใหญ่มีจำนวนอยู่ที่ 6% หรือ 2.7 ล้านคน โดยความชุกของการสูบบุหรี่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่ระหว่าง 13.8% และ 16% การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในผู้สูบบุหรี่อยู่ระหว่าง 17.5% และ 20.1% และผู้ที่เลิกสูบบุหรี่แล้วเปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้า 11% ส่วนผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อนอยู่ที่ 0.3% และ 0.6% ทั้งนี้ สัดส่วนของผู้ที่ใช้ทั้งบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าค่อยๆ ลดลงตั้งแต่ปี 2555
นอกจากนี้ PHE ยังคงศึกษาประเด็นการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนอายุ 11 ถึง 18 ปีที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างน้อยเดือนละครั้ง พบว่ามีจำนวนคงที่ อยู่ที่ 4.8% เทียบจากรายงานในเดือนมีนาคมปี 2563 ที่ผ่านมา 0.8% เป็นเยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน และประเทศอังกฤษจะเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากยังพบการละเมิดกฎหมายห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีอยู่
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความเสี่ยงของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าและการสูบบุหรี่ โดย 38% เข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายเทียบเท่าการสูบบุหรี่และ 15% คิดว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายมากกว่า
PHE จะออกรายงานฉบับสมบูรณ์ถึงความปลอดภัยในการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในปี 2565 ซึ่ง คิงส์ คอลเลจ ลอนดอน กำลังทำงานร่วมกับทีมนักวิจัยจากทั้งประเทศอังกฤษและอเมริกา ศาสตราจารย์ แอนน แมคนีล ผู้เชี่ยวชาญการเสพติดยาสูบ คิงส์ คอลเลจ ลอนดอนและหัวหน้าผู้เขียนรายงาน กล่าวว่า “เป้าหมายในปี 2573 คือการทำให้ประเทศอังกฤษเป็นประเทศปลอดควันบุหรี่ การพัฒนาแผนควบคุมยาสูบใหม่ และการทบทวนนโยบายการควบคุมยาสูบ Tobacco and Related Products Regulations 2016 ในปีนี้ เป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความมั่นใจว่าจะมีกฎระเบียบข้อบังคับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่เหมาะสม เพื่อช่วยในการเลิกสูบบุหรี่และป้องกันนักสูบหน้าใหม่”
สุดท้ายแม้ PHE จะคงแนะนำให้ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อช่วยในการเลิกบุหรี่ แต่ไม่แนะนำให้ผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพราะแม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะมีอันตรายทางสารเคมีที่น้อยกว่าบุหรี่มวนอยู่มากแต่ก็ยังคงมีอันตรายอยู่ดี