ม.มหิดลเตรียมต่อยอดผลิตวัคซีนไข้เลือดออกเดงกีทั้ง 4 ชนิด สู่ระดับอุตสาหกรรม
ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สุธี ยกส้าน ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ริเริ่มวิจัยและพัฒนาวัคซีนโรคติดเชื้อที่สำคัญในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียมานานนับ 40 ปี เปิดเผยว่า จากผลงานวิจัยและพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกเดงกี (Dengue) 4 ชนิด ประกอบด้วย วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (JE) วัคซีนไข้ซิกา (Zika) และวัคซีนไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนมาอย่างยาวนาน เห็นว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีระดับความรุนแรง ตั้งแต่โรคประจำถิ่น (Endemic) จนเกิดการแพร่ขยายในวงกว้าง (Outbreak) กระทั่งกลายเป็นโรคระบาด (Epidemic) และเกิดการแพร่กระจายไปทั่วโลก (Pandemic) ซึ่งเป็นการระบาดขั้นสูงสุด จากนั้นก็อาจกลับกลายเป็นโรคประจำถิ่นต่อไปได้
ทั้งนี้ ความสำคัญของการวิจัย และพัฒนาวัคซีน เป็นการพัฒนาเชิงรุก ซึ่งการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 มีหลักการพื้นฐานเช่นเดียวกับโรคติดเชื้อที่มีความรุนแรงโดยทั่วไป นอกจากนี้ยังอาจช่วยผู้ติดเชื้อได้โดยนำสารภูมิต้านทาน (Antibody) ของผู้ป่วย หรือผู้ติดเชื้อที่หายแล้ว มาผ่านกระบวนการในห้องปฏิบัติการแล้วฉีดให้แก่อาสาสมัคร แต่ก็ยังอาจพบข้อจำกัดบ้าง เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีระบบภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกัน จึงมีผลต่อวัคซีน หรือสารภูมิต้านทานที่ได้รับไม่เหมือนกัน ดังนั้นเพื่อให้การพัฒนาวัคซีนประสบผลสำเร็จ จึงควรมีการศึกษาถึงปัจจัยด้านวิทยาภูมิคุ้มกันร่วมด้วย
สำหรับ นวัตกรรมนั้นสร้างได้ หากเราสามารถพัฒนาวัคซีนป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อชนิดใดชนิดหนึ่งประสบผลสำเร็จแล้ว ในอนาคตอาจสามารถพัฒนาต่อยอด เป็นนวัตกรรม โดยรวมเอาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อชนิดอื่นไว้ในเข็มเดียวกันได้ ดังนั้นจึงควรมีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ซี่งระหว่างรอให้วัคซีนโควิด-19 ประสบผลสำเร็จ ประชาชนควรปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัด แต่ก็ไม่ควรตื่นตระหนกกันจนเกินไป จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศชาติโดยรวมด้วยได้
ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สุธี กล่าวว่า ก้าวต่อไปของมหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) จะร่วมกับ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) พัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกเดงกีทั้ง 4 ชนิดออกไปสู่อุตสาหกรรม โดยจะทำให้ประเทศไทยได้เป็นศูนย์กลางระดับโลกในการผลิตวัคซีนชนิดนี้ ซึ่งนอกจากวัคซีนในคนแล้ว ทางศูนย์วิจัยฯ ยังได้มีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในเป็ดพันธุ์ไข่ จากการศึกษาเชื้อไวรัสเป็ดที่นำโดยยุงลาย เพื่อดูแลเป็ดที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตไข่เป็ดในระดับประเทศต่อไปอีกด้วย