“หมอประกิต”แท็กทีมหมอรามาฯเรียกร้อง ส.ส.พรรคก้าวไกล อย่าชี้นำนโยบายคุมยาสูบของไทย แนะควรทำหน้าที่ กมธ.สาธารณสุขอย่างเต็มที่ ร่วมแก้ไขปัญหายาสูบของไทยในด้านที่อ่อนแอมาตรการภาษี-การบังคับใช้กฎหมาย-บุหรี่เถื่อน-ผลักดันสิทธิยารักษาเลิกบุหรี่เข้ากองทุนประกันสุ
ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงกรณีนพ.เอกภพ เพียรพิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จ.เชียงราย และกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อบัญชี "หมอเอก Ekkapob Pianpises" (@DoctorEkkapob) เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา โดยการเรียกร้องให้รัฐบาลยอมพิจารณาข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อปรับแผนการควบคุมการบริโภคยาสูบของไทย โดยอ้างงานวิจัยจากวารสาร R Street Policy Study เปรียบเทียบนโยบายควบคุมยาสูบของไทยกับสหราชอาณาจักร และชี้นำสังคมให้ปลดล็อคบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยว่า วารสาร R Street Policy Study ที่ นพ.เอกภพ นำมากล่าวอ้างนั้นเป็นวารสารของสถาบัน R Street ซึ่งสถาบันนี้มีความสัมพันธ์กับธุรกิจยาสูบมายาวนาน นอกจากนี้ วารสารดังกล่าวเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนที่ทำงานให้กับสถาบัน R Street ไม่ได้เป็นวารสารทางวิชาการที่มีระบบการตรวจสอบ และทบทวนโดยผู้เชี่ยวชาญ (peer-review) แต่อย่างใด โดยสถาบัน R Street เป็นสถาบันที่แยกตัวมาจากสถาบัน Heartland เมื่อปี 2555 ซึ่งสถาบัน Heartland นี้มีประวัติการได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่มาอย่างยาวนาน
ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า ตัวอย่างหนึ่งที่พบในเอกสารลับบริษัทบุหรี่ ปี 2542 เผยว่า ประธานสถาบัน Heartland ได้เขียนจดหมายถึงบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส เพื่อขอเงินสนับสนุนจำนวน 30,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยระบุในจดหมายว่า “Heartland ทำประโยชน์หลายอย่างให้กับบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ซึ่งไม่มีองค์กรไหนทำได้…” (‘Heartland does many things that benefit Philip Morris' bottom line, things that no other organization does…’) ส่วนของสถาบัน R Street นี้ก็ได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัท อัลเทรีย ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกับฟิลลิป มอร์ริส ที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา มาตั้งแต่ปี 2557 และยังพบว่าผู้เกี่ยวข้องกับสถาบัน R Street และเป็นผู้ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าก็ได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่ เช่น Dr. Brad Rodu เป็น Associate Fellow ของสถาบัน R Street ก็มีประวัติการรับทุนสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่มายาวนาน ช่วงปี 2553-2558 รับทุนจากบริษัท บริติชอเมริกัน โทแบคโค, ปี 2553-2555 รับการสนับสนุนจากบริษัท อัลเทรีย และระหว่างปี 2543-2552 ยังทำงานให้กับบริษัทบุหรี่ อาร์ เจ เรย์โนว์ เพื่อสนับสนุนทิศทางของบริษัทเรื่องการลดอันตรายจากยาสูบ (Harm Reduction)
ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่าที่ ส.ส.เอกภพ เพียรพิเศษ ระบุว่า ประเทศไทยห้ามบุหรี่ไฟฟ้า โดยไม่ยอมรับข้อมูลวิชาการใหม่ๆ นั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะเราติดตามข้อมูลวิชาการใหม่ๆ ที่ทยอยมีออกมาอย่างใกล้ชิด และหลักฐานที่เป็นกลางล้วนยืนยันว่า การอนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้าขายได้เสรี จะส่งผลเสียต่อสาธารณสุขในภาพรวมมากกว่าผลดี โดยหลักฐานบ่งว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายและเสพติด ยังบอกไม่ได้ว่าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดาหรือไม่ และที่สำคัญอันตรายระยะยาวของบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่มีใครรู้ เพราะใช้กันมาเพียงสิบปีเศษเท่านั้น
ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของบุหรี่ไฟฟ้า คือการที่เยาวชนที่ไม่สูบบุหรี่เข้าไปสูบและเกิดการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งหลักฐานล่าสุดจากสหรัฐฯ พบว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ลดจำนวนคนที่สูบบุหรี่ธรรมดา แต่เพิ่มจำนวนเยาวชนที่เสพติดบุหรี่ไฟฟ้าที่กลายเป็นลูกค้าใหม่ของบริษัทบุหรี่หลายล้านคน ส่วนกรณีที่ขอให้ดูตัวอย่างประเทศสหราชอาณาจักรที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในการลดจำนวนคนที่สูบบุหรี่นั้น ข้อเท็จจริงคือ สหราชอาณาจักรกำหนดงบประมาณปีละกว่า 10,000 ล้านบาทในการควบคุมยาสูบในการที่จะมุ่งสู่เป้าหมายสังคมปลอดบุหรี่ เปรียบเทียบกับประเทศไทยที่ใช้งบประมาณควบคุมยาสูบเพียงปีละ 400 ล้านบาท นอกจากนี้ ความพร้อมด้านอื่นๆ ในการควบคุมยาสูบที่ประเทศไทยทำไม่ได้หรือยังไม่ได้ทำ ยังมีอีกมาก
“ในฐานะที่ ส.ส.เอกภพ เป็นหนึ่งในกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร คุณหมอควรจะเข้ามาร่วมแก้ปัญหาผลักดันงานควบคุมยาสูบด้านที่ประเทศไทยยังอ่อนแอ เช่น ระบบภาษียาสูบ มาตรการช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบให้เปลี่ยนอาชีพ ระบบการควบคุมบุหรี่เถื่อน การบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบ ห้ามขายให้แก่เด็ก ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ และการทำให้สิทธิยารักษาเลิกบุหรี่อยู่ในกองทุนประกันสุขภาพ อย่างที่ประเทศอังกฤษเขาทำได้ดีทั้งหมดแล้ว มากกว่าที่จะเสนอให้รัฐบาลเปิดขายบุหรี่ไฟฟ้าเสรีตามที่บริษัทบุหรี่และเครือข่ายเรียกร้อง ซึ่งจะยิ่งเพิ่มปัญหาการเสพติดบุหรี่และเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทย และประเทศไทยควรคงนโยบายการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป ตามที่องค์กรวิชาการระดับโลกที่เป็นกลางและน่าเชื่อถืออย่างสหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติที่วิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมด พิจารณาผลกระทบทุกๆด้าน เสนอว่า ในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง การห้ามขาย คือ นโยบายที่ดีที่สุดในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า และบุหรี่แบบที่ไม่มีการเผาไหม้” ศ.นพ.ประกิต กล่าว