ขอนแก่น-ม.ขอนแก่นเร่งพัฒนานักสร้างระบบ AI เสริมความแกร่งด้านการแพทย์และสาธารณสุข ช่วยงานวิจัยด้านสุขภาพดูแลคนไทย
ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา และประธานกรรมการศูนย์เครื่องมือวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมีนโยบายให้ทุกคณะขับเคลื่อนนักวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ A.I. ในทุกมิติ โดยเฉพาะมิติด้านการแพทย์สุขภาพ (Medical Health) และด้านเกษตรและอาหารโดยเข้าร่วมเป็น 1 ในมหาวิทยาลัยเครือข่าย NVAITIC ของบริษัท NVIDIA ที่มีภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยปัญญาประดิษฐ์ไทย และมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกกว่า 40 แห่ง จะเป็นใช้ A.I. มาช่วยจัดการ Data ให้เกิดประสิทธิภาพในงานวิจัย การรักษาโรคต่างๆ อีกทั้งจะเป็นการสร้าง Ecosystem ให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยไทยร่วมด้วย
นอกจากนี้ มข.ได้มีการจัดตั้งศูนย์จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ม.ขอนแก่น จะทำหน้าที่ตรวจสอบจริยรรมมนุษย์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม เครื่องมือทางการแพทย์ที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย จัดโครงการเสริมสร้างศักยภาพและขับเคลื่อนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศระดับทวิภาคีและพหุภาคี : ปัญญาประดิษฐ์ด้านการดูแลสุขภาพ (AI for Healthcare) เพื่อความเป็นเลิศด้านการแพทย์ เสริมความเข้มแข็งด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยใช้นวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ ผ่านเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ตลอดจนเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก และจะมีการเชื่อมโยงกับภาคเอกชน เพื่อจัดทำงานวิจัยที่สามารถใช้ได้จริงในเชิงอุตสาหกรรมทางการแพทย์ต่อไป
ด้าน รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผอ.หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) หรือ PMU-C กล่าวว่า บพข.ได้มีการสนับสนุนทุนวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรม เทคโนโลยีต่างๆ ให้แก่มหาวิทยาลัยที่มีองค์ความรู้ เชี่ยวชาญงานวิจัยทางด้านการแพทย์ และวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยไทยมีผลงานวิจัยจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมาจะเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ ทำให้มีข้อมูล Data จำนวนมากและกระจัดกระจาย ทำให้ไม่เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน แต่ต่อไปเมื่อมีภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยปัญญาประดิษฐ์ไทย (Thailand A.I. University Consortium) จะทำให้มหาวิทยาลัยต่าง สามารถใช้ A.I. ในการสร้างระบบต่างๆ ช่วยงานวิจัย และการแพทย์ได้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้มีการจัดงบประมาณสนับสนุนมหาวิทยาลัย ประมาณ 188 ล้านบาท ต่อปี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของนักวิจัยไทย ยกระดับงานวิจัยทางการแพทย์ และวิศวกรรมศาสตร์ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ซึ่งเป็นจะกลายเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทย โดยใช้ AI เข้าช่วย