ผู้คว่ำหวอดในวงการสำนักพิมพ์แชร์มุมมองธุรกิจหนังสือไทยในยุคปัจจุบัน
ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศที่กำลังอยู่ในสภาวะซบเซา ธุรกิจหลายอย่างได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ธุรกิจหนังสือ ก็เป็นอีกธุรกิจที่ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากธุรกิจอื่น อย่างไรก็ตาม ทุกสำนักพิมพ์ต่างก็พยายามที่จะปรับตัว ทั้งในแง่ของธุรกิจ และการถูกดิสรัพจากสื่ออื่นๆ ที่แย่งชิงเวลาของผู้อ่านไปสำนักพิมพ์ยิปซี จึงได้เป็นโต้โผใหญ่จัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ "อนาคตของธุรกิจหนังสือท่ามกลางวิกฤตโควิด-19" โดยชวนสำนักพิมพ์ต่างๆ หลากหลายแนว แพลตฟอร์มออนไลน์ และสายส่ง ทั้งมติชน, MEB, Groove Publishing, Bookscape, เคล็ดไทย, Biblio, พะโล้ พับลิชชิ่งมาร่วมแลกเปลี่ยนคำตอบของคำถาม ถึงวิถีแห่งการการนำพาธุรกิจหนังสือ ให้ฝ่าคลื่นลมครั้งนี้ไปได้หลายคำตอบน่าสนใจอย่างยิ่ง และแสดงให้เห็นถึงทั้งปัจจุบันและอนาคตของธุรกิจหนังสือไทย
คธาวุฒิ เกนุ้ย กรรมการผู้จัดการ สำนักพิมพ์ยิปซี เจ้าภาพเสวนาครั้งนี้ ที่ สนพ.เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นสำนักพิมพ์สายสารคดีประวัติศาสตร์ที่คุณภาพแข็งแกร่งแห่งหนึ่ง บอกว่า สาเหตุที่จัดเสวนานี้ขึ้น เพราะอยากชวนมาถกกันว่าจากปัญหาที่เกิดขึ้น จะเดินหน้าต่อยังไงดีวิธีแก้ปัญหาของยิปซีช่วงโควิด-19 คือการสร้างนักอ่านของยิปซีให้เป็นนักขาย
"เราสร้างยอดนักขายยิปซี คือรับเพื่อนนักอ่านเป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับผมได้มาก กลุ่มคนอ่านไม่ได้ไปทำงาน อยู่บ้าน ต้องโดนลดเงินเดือนหรือออกจากงาน ซึ่งกลุ่มนักขายของเรามีจำนวน 100 ท่าน พวกเขารู้จักยิปซีดีอยู่แล้ว ก็ช่วยกันขายและยอดขายถือว่าน่าพอใจ แต่ในฐานะผู้นำองค์กรถือว่าหนักมาก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรักษาพนักงานถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญมากที่สุดของเราให้พ้นวิกฤต โชคดีที่ห้างและร้านหนังสือกลับมาได้ภายในสองเดือนต่อจากนี้วงการหนังสือต้องทำงานหนักขึ้นมาก ตอนนี้ต้องตัดทิ้งเยอะกว่าทำ ค่อนข้างสำคัญมากๆ"
ด้าน รวิวร มะหะสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง MEB กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับ MEB ช่วงโควิด-19 หนักๆ น่าจะเป็นสัญญาณสำคัญถึงสำนักพิมพ์ได้เลยว่า การทำอีบุ๊กพร้อมหรือไล่เลี่ยกับหนังสือเล่มนั้น เป็นสิ่งจำเป็น "เราใช้โทรศัพท์กันเยอะขึ้น คนใจร้อนมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ส่งผลถึงเรื่องการซื้อหนังสือนะครับ ต่อให้ซื้อออนไลน์ก็ต้องรอส่งอย่างน้อย 1 วัน สิ่งที่ MEB เจอ มากๆ เลย คือการถามว่าทำไมเล่มนี้ถึงยังไม่มีขายในเน็ต ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายในฐานะคนทำ E-Book และสะท้อนได้เลยว่ามีความต้องการเข้ามาเรื่อยๆ แต่หลายครั้งก็ไม่ได้รับตอบสนอง เชื่อว่าหลายสำนักพิมพ์น่าจะระลึกถึงประเด็นนี้ได้
ตอนนี้คอนเทนต์อย่างอื่นในมือถือพร้อมเสิร์ฟเรามากๆ ไม่ว่าจะเกม หนัง เพลง พร้อมมาก ประเด็นคือเราจะทำให้หนังสือพร้อมจะเสิร์ฟในระดับนั้นได้ไหม หรือถ้ามีข้อจำกัดอะไร เรามีอะไรที่พอจะทำไปได้บ้าง เข้าใจว่าเป็นเหมือนเรื่องไก่กับไข่ นักอ่านบอกว่าไม่มีหนังสือ สำนักพิมพ์ไม่มียอดขาย ก็เลยไม่เอามาขายเป็นอีบุ๊ก แต่คือถ้านักอ่านไม่อ่านเรา ก็ไปทำอย่างอื่นได้ แต่คนทำหนังสือก็คือทำหนังสือ มีหนังสือก็ต้องขาย เพื่อให้คนอ่านมาซื้อ คือเราต้องเป็นไก่เอง ไม่ใช่รอไข่" รวิวรย้ำถึงช่องทางขายของอีบุ๊กที่สำนักพิมพ์ไม่ควรละเลยสอดคล้องกับมุมมองของขวัญใจคนรักนิยาย เพราะนายแพทย์พงศกร จินดาวัฒนะ ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Groove Publishing และหนึ่งในผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มการอ่านอย่าง อ่านเอา https://anowl.co/ บอกเลยว่า การสร้างเอนเกจเมนต์กับนักอ่านเป็นเรื่องสำคัญมาก และโควิด-19 ก็ทำให้คนอ่านออนไลน์เยอะขึ้นมาก
"เรายึดคนอ่านเป็นแกนกลางเลยครับ ทำทุกอย่างแบบ Consumer center คือคิดว่านักอ่านนวนิยายเขาอยากได้อะไร กระดาษแบบไหน ฟ้อนต์แบบไหน ออกแบบปกยังไง คนอ่านต้องเป็นศูนย์กลางของทุกเรื่อง ต้องทำงานหนักขึ้นมากๆ และเล็งให้แม่น"
ด้าน ณัฏฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ Bookscape มือต้นๆ ด้านงานกึ่งวิชาการ ก็ว่าสิ่งที่สำคัญมากของการทำสำนักพิมพ์ตอนนี้ คือต้องมีตัวตนที่ชัดเจนในสายตานักอ่าน "เราต้องมีตัวตนที่ชัดเจนและมีคุณภาพ เพราะคนอ่านฉลาดมาก เราโดนจับผิดได้ตลอดเวลา แต่ถ้าหากเราทำงานมีคุณภาพ คนอ่านเขาก็จะมีรอยัลตี้กับเรามากกว่าเมื่อก่อน ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี สิ่งหนึ่งคือคนทำหนังสือต้องมองคือกระแสสังคม อย่างที่หลายคนบอกว่าต้องอ่านสังคมให้ออก หนังสือแบบไหนเป็นที่สนใจของสังคม ซึ่งเป็นโจทย์ที่คนทำหนังสือต้องจำอยู่ในใจตลอดเวลา เราพยายามหาประเด็นที่อาจยังไม่ได้พูดถึงมากในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศเริ่มมีการพูดกันซักพักแล้ว และอยากให้ประเด็นนี้เป็นที่จับตามองในไทยเหมือนกัน ซึ่งก็ทำให้เห็นว่าหน้าตาของคนอ่านเราเป็นยังไง แล้วเราควรทำหนังสือแบบไหน ทำโปรดักชั่นหนังสือออกมายังไงให้เป็นที่จดจำน่าสะสม
จีรวุฒิ เขียวมณี บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ Biblio สายนิยายแปลที่กำลังมาแรง บอกว่า ต้องพิจารณาความนิยม พฤติกรรมของคนอ่านดีๆ ไม่ใช่แค่อะไรที่อินอยู่ในแฮชแท็กเท่านั้น แต่เป็นเทรนด์ร่วมสมัยของคนยุคนี้ เช่น ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา คนอ่านนอน ฟิกชั่นมากขึ้น จาก 15% เป็น 40% เพราะฉะนั้นตลาดนี้จึงมีความเข้มข้น การสังเกตว่าตลาดอยากอ่านอะไรและสนใจอะไร เป็นงานหนักของบรรณาธิการรวมถึงของการตลาด"นอกจากเนื้อหา โปรดักชั่นก็เป็นเรื่องสำคัญมาก ทุกคนแข่งกันทำปกสวยและใช้กระดาษดีๆ ทั้งนั้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคนอ่านที่ทางสำนักพิมพ์ได้มีการยกระดับอย่างต่อเนื่อง เพราะสิ่งที่เคยสำเร็จในปีที่แล้วอาจใช่ไม่ได้แล้ว แล้วต้องนำผู้อ่านครึ่งก้าวเป็นอย่างน้อย ไม่งั้นเราจะดูไม่ออกเลย
"ปิดท้ายที่ ธีรภัทร เจริญสุข บรรณาธิการที่ปรึกษา สำนักพิมพ์ พะโล้ พับลิชชิ่ง งานไลท์ โนเวลสุดฮอต ก็ว่า พยายามจะทำหลายๆ ด้านที่นอกเหนือไปจากหนังสือ โดยได้ความร่วมมือจากพันธมิตรที่ทำธุรกิจเดียวกัน แต่อาจว่าจะไม่ได้อยู่แวดวงนี้ สายสื่อมัลติมีเดีย เช่น ยูทูบเบอร์ หรือทำเป็นเกมไลท์โนเวล เป็นการพัฒนาให้ทันตามคนรับสื่อนั่นเองเป็นอนาคตของวงการหนังสือ ที่ทุกคนกำลังพยายามสร้างปัจจุบันให้เข้มแข็ง เพื่อให้คนอ่านยังคงอยู่และเติบโต