เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทยจับมือภาคีภาครัฐและเอกชนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในโครงการ “หมุนเวียน เปลี่ยนโลก” ตั้งเป้าปีแรกจะส่งขยะ 500 ตันไปสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า กระแส ESG (Environment, Social and Governance) ได้รับการตอบรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจที่จะสามารถเติบโตไปพร้อมกับความท้าทายนี้ได้ ควรตระหนักถึงความสำคัญและผนวก ESG เข้ากับการทำธุรกิจ ขณะที่ผู้ลงทุนสถาบันก็ได้ให้ความสำคัญกับ ESG ใช้เป็นปัจจัยในการตัดสินใจลงทุน โดย ก.ล.ต. ได้ริเริ่มโครงการถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ ภายใต้โครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อเชิญชวนบริษัทจดทะเบียนในแนวถนนวิภาวดีรังสิต มาร่วมกันบริหารจัดการขยะภายในองค์กร และได้สนับสนุน “โครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน” ที่ถนนสุขุมวิท โดยเชื่อมั่นว่าโมเดลดังกล่าวจะสามารถขยายผลไปยังถนนเส้นอื่นต่อไป รวมทั้งภาคธุรกิจสามารถยกระดับการเปิดเผยข้อมูลสะท้อนเรื่อง ESG ผ่านรายงาน One Report
ทั้งนี้ การลงนามในเจตนารมณ์ร่วมกันในครั้งนี้ ถือว่าเป็นหนึ่งในกลไกที่มีพลังมากที่มุ่งผลักดันให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง โดยมีองค์กรจากทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือแบบ end-to-end จึงเชื่อมั่นว่าจะช่วยส่งเสริมให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความยั่งยืน และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ปี 2030
ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีบริษัทจดทะเบียนกว่า 700 บริษัท ซึ่งกระบวนการดำเนินธุรกิจได้ผลิตสินค้าและบริการตอบสนองผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยห่วงโซ่ธุรกิจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นของขยะเศษอาหาร ขยะพลาสติก และขยะจากการผลิต ภาคตลาดทุนจึงต้องการมีส่วนร่วมลดปัญหาขยะดังกล่าว ซึ่งในโครงการ "หมุนเวียน เปลี่ยนโลก" ถือเป็นต้นแบบที่ดีช่วยให้บริษัทภาคเอกชนในตลาดทุนไทยตระหนักถึงการจัดการขยะในการะบวนการดำเนินธุรกิจที่เห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น
“ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขอชื่นชมและสนับสนุนเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) และพันธมิตรกว่า 38 องค์กร ที่ร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และส่งเสริมบรรษัทภิบาลในตลาดทุนไทยอย่างยั่งยืน”รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯกล่าว
ด้าน นางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า เกิดวิกฤตต่างๆ มากขึ้น ทำให้บริษัทส่วนใหญ่ก็ได้รับผลกระทบ ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงที่ดีต้องคํานึงถึงความยั่งยืน ยิ่งในช่วงที่โลกของเรากําลังเปราะบางเช่นนี้ มิฉะนั้นจะนํามาซึ่งค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในระยะยาว เราสามารถดําเนินงานได้จากโครงการเล็กๆ โครงการใกล้ตัวอย่าง โครงการ ‘หมุนเวียน เปลี่ยนโลก’ นี้ ไม่จําเป็นต้องลงทุนมากมาย แต่เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มนวัตกรรมเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ กิจการของเราก็จะยั่งยืน เติบโต สามารถรักษาส่วนต่างของรายได้และค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้”นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยกล่าว
ขณะที่ นางพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN)กล่าวว่า บริษัทเอกชน องค์กร ภาครัฐ ภาควิชาการและประชาสังคม 38 องค์กรมาร่วมลงนามแสดงเจตนารมณ์ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กว้างขวางและพัฒนาอย่างเป็นระบบอย่างแท้จริง เศรษฐกิจหมุนเวียนมีความตื่นตัวกันทั่วโลก และมีความจำเป็นเพราะทรัพยากรมีจำกัดขึ้นทุกวัน ฉะนั้นการนำขยะกลับมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจึงมีความสำคัญมาก ในส่วนของประเทศไทยนั้น รายงานจากกรมควบคุมมลพิษเผยว่าในปี 2562 ประเทศไทยผลิตขยะ ประมาณ 28.7 ล้านตัน แต่ขยะมูลฝอยที่ได้รับการคัดแยกขยะต้นทางและนำกลับไปใช้ประโยชน์มีปริมาณเพียง 12.6 ล้านตัน (ร้อยละ 44)
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นถึงปีละ 12% โดยในจำนวนนี้เป็นพลาสติกใช้ครั้งเดียวประมาณ 80% กับมีขยะพลาสติกหลุดรอดไปในทะเลมากถึงปีละ 30,000 ตันสำหรับขยะในเมืองนั้น พบว่าเป็นเศษอาหารในสัดส่วนสูงถึง 64%อย่างไรก็ตาม การเกิดวิกฤตโควิด-19 กระตุ้นพฤติกรรมการสั่งสินค้าและอาหารมาส่งถึงบ้าน ทำให้ปัญหาขยะพลาสติกเฉพาะในกรุงเทพฯ เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 62 เมื่อเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า เศรษฐกิจหมุนเวียนมีการดำเนินงานกันบ้างแล้ว แต่กระบวนการไปสู่ความสำเร็จยังไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะในด้านของการรวบรวมและคัดแยก ซึ่งถ้าทำสำเร็จจะช่วยชาวไทยทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม”