.
โดย สุพจน์ วันเจริญ
***************
เมื่อมองผ่านประสบการณ์บริหารเทศบาลนครยะลากว่า 17 ปี ของ พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา (Mayor of Yala City Municipality) นั้นน่าขบคิดนำไปใช้ในเมืองต่างๆ
เพราะยะลาที่ประสบเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องนานหลายสิบปี บวกกับการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าไปอีก นั้นดูเหมือนกำลังจะเข้าสู่โหมดของเมืองที่กลับมายืนได้ด้วยตัวเองอีกครั้ง
เพียงเขาแค่ รวบรวมจุดเด่นทุกด้านของเมืองที่มีมาตั้งแต่สมัยดั้งเดิมอันจะมาเป็นต้นทุน โดยเฉพาะผังเมืองของเมืองยะลาที่ติดอันดับโลก ร่วมกับการมีวิสัยทัศน์แต่งเติมเมืองให้เข้ากับยุคสมัย อาทิ สมานชีวิตประจำวันคนของเมืองให้เข้ากับยุคสมัยดิจิทัลแห่งโลกปัจจุบัน
มีโอกาสพูดคุยกับ พงษ์ศักดิ์ ในช่วงบ่ายวันหนึ่งที่เขานำทีมสมาคมประมงแห่งปัตตานีมาร้องทุกข์จากปัญหาด้านข้อบัญญัติกฎหมายภาครัฐที่เขียนขึ้นโดยปราศจากความรู้ความเข้าใจในปัญหาชาวบ้าน
เขาเปิดฉากโดยแนะนำตัวเอง ว่า ตัวเขาเป็นค้นท้องถิ่นยะลา เริ่มการศึกษาม.ต้นที่บ้านเกิด ต่อด้วย ม.ปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่กรุงเทพฯ ตามด้วยจบปริญญาตรีคณะเภสัชกรรมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อ ป.โทสาขาบริหารธุรกิจ ม.ควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย
เข้าสนามการเมืองท้องถิ่นด้วยการชักชวนจากนักการเมืองท้องถิ่นรุ่นพี่ จนได้เป็นนายกเทศมนตรีนครยะลาตั้งแต่ปี 2547 ดำรงตำแหน่งในวาระครั้งละ 4 ปี เรื่อยมาจนปัจจุบันยังอยู่ในตำแหน่งไม่มีเว้นวรรค
เขาบอกว่า ด้วยความนครยะลามีปัญหาจากสถานการณ์ความรุนแรง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอด 20 กว่าปีมานี้ ทำให้มีปัญหาการพัฒนาเมืองได้ไม่เต็มที่จนเมื่อเหตุการณ์เริ่มซาลง เขาจึงเริ่มโครงการการพัฒนาเมืองมาเมื่อ 5 ปีมานี้นี่เอง โดยการทำอย่างไรก็ได้ที่จะเป็นการเริ่มต้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
“คิดถึงต้นทุนของเมืองที่มี ประการแรก เทศบาลนครยะลามีพื้นที่ 19 ตร.กม.มีประชากร 6 หมื่นคน(ปี2562)มีชื่อเสียงด้านความสวยงามของผังเมือง เพราะมีการวางแผนออกแบบมาก่อนเมื่อราว80 ปีที่แล้ว ที่พระรัฐกิจวิจารณ์(สวาสดิ์ ณ นคร)ดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีฯในสมัยที่ยังเป็นแค่เทศบาล ยังไม่ยกระดับเป็นเทศบาลนคร”
“ท่านวางแผนออกแบบนครยะลาให้มีถนนกว่า 400 สายเชื่อมกันเป็นวงเวียนใยแมงมุมซ้อนกัน 3 วงเหมือนกับกรุงปารีส และถนนบางส่วนตัดเป็นตาหมากรุกอย่างเมืองลอสแอนเจลิส ทั้งยังมีการแบ่งพื้นที่ตัวเมืองอย่างชัดเจนเป็นย่านๆ เช่น ย่านการศึกษา ย่านสถานที่ราชการ ย่านที่อยู่อาศัย และย่านพื้นที่สีเขียวของเมือง”
“เมื่อเรามีต้นทุนความสวยงามของเมือง เราก็มาเน้นเรื่องความสะอาด จัดการขยะ ฯลฯ แล้วจึงวางแผนที่จะเป็นฮับด้านการขนส่งโลจิสติกส์ โดยผลักดันรถไฟรางคู่ ผ่านครม. บรรจุในแผนปี 2564 คือรถไฟยะลา-ปัตตานี เรียบร้อยแล้ว” นายพงษ์ศักดิ์ เล่า
เขาว่าต่อ แล้วก็ดำเนินโครงการพัฒนาเมืองด้านต่างๆ ช่วงที่ผ่านมาได้ทำโครงการการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพที่สอดคล้องกับความถนัด ความสนใจ ของเยาวชน ด้วยการมีครูแนะแนวเข้าไปทุกโรงเรียนสังกัดเทศบาลชั้น ม.2-ม.3 เพื่อค้นหาความสามารถของเด็กเพื่อที่จะส่งเสริมให้เรียนถูกความสามารถไม่ใช่เลือกตามผู้ปกครอง ทำมาได้ 3 ปีแล้ว
“ถ้าเด็กคนไหนมีความสามารถเรื่องไอที ก็จะมีอาจารย์จาก ม.จุฬา ม.ธรรมศาสตร์ ไปสอน และมีทุนไปเรียนถึงระดับปริญญาตรีด้วย”
มีโครงการเปลี่ยนแปลงการปลูกพืชเศรษฐกิจที่ราคาตกต่ำ คือ ยางพารา เปลี่ยนมาเป็นทุเรียนพันธุ์ท้องถิ่น จนปัจจุบันเป็นที่ชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว อาทิ พันธุ์มูซันคิง พันธุ์โอวฉีหรือทุเรียนหนามดำ ที่มาเลเชีย กิโลกรัมละ 750 บาท
“อย่างเรื่องกาแฟก็เหมือนกัน ด้วยที่ดินของเราดีมาก เราสามารถปลูกได้ทั้งพันธุ์อาราบิก้า และ โรบัสต้า และที่ผ่านมาเราได้วิจัยกาแฟโรบัสตาเราได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Brown Sugar ที่มีกลิ่นหอมของถั่ว รสเปรี้ยวของมะนาว ซึ่งไม่พบในกาแฟที่ปลูกในที่อื่น”
เขาว่า เรื่องสมาร์ท ซิตี้ก็จะเสร็จในเร็วๆ นี้ คือ การพัฒนาระบบให้บริการโดยนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่ออำนวยความและเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารและบริการดิจิทัลระหว่างประชาชนกับเทศบาลนครยะลา เช่น แอพพลิเคชั่นเพื่อติดต่อกับเทศบาลนครยะลา มี Line OA ประชาชนจะได้ร้องทุกข์ และรับทราบข้อมูลจากทางเทศบาล “เรามีการทำโครงการหลาดยะลา (เขียนถูกแล้ว หลาด ไม่ใช่ ตลาด)(Yala Market) คือ การหาตลาดให้คนที่มาลงทะเบียนเข้าชื่อไว้ขายของ เน้นพวกพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย หากไม่ค่อยรู้เรื่องดิจิทัลก็จะมีอาสาสมัครช่วยให้ มีเสาฟรีไวไฟ ติดตามถนนเส้นหลัก ฯลฯ”เขาว่า
นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา กล่าวว่า เทศบาลนครยะลามีงบประมาณเพียงปีละประมาณ 900 ล้านบาท เป็นรายได้จากที่รัฐบาลเก็บให้ 46 % ทางเทศบาลนครยะลาเก็บเอง 14 % เงินรัฐบาลอุดหนุนอีกประมาณ 40 % แล้วเมื่อมาประสบกับการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 อีกก็ต้องตัดทอนงบประมาณรายจ่ายลง เพราะจัดเก็บรายได้ไม่ตรงเป้า
“จากสถานการณ์โควิดทำให้เราต้องยกเลิกกิจกรรมไปหลายโครงการที่เราจะทำเพื่อเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่าง ยะลามาราธอน การแข่งขันปิงปองผู้อาวุโสอาเซียน กาแฟโรบัสต้าโลก และอีกกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญ คือ ชาวยะลาคืนสู่บ้านเกิด เป็นการดึงคนยะลาที่อยู่ที่ไหนก็ตามซึ่งไม่ได้กลับบ้านเกิดมานานกลับมาเที่ยว เช่น หน้าสงกรานต์ เป็นต้น” เขาปิดท้ายการสนทนา
เทศบาลนครยะลาถึงแม้จะเป็นเทศบาลระดับไม่ใหญ่มาก แต่เคยได้รับรางวัลระดับประเทศอยู่หลายครั้งมาแล้ว ล่าสุดเมื่อปีพ.ศ.2561 ได้รางวัลการบริหารเมืองที่ดีจากสำนักนายกรัฐมนตรี และปีพ.ศ.2563 ได้รางวัลประเภทเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืน จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นตัวแทนจากประเทศไทยไปรับรางวัลสิ่งแวดล้อมระดับอาเซียนต่อด้วย