อดใจรอสักนิดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า พลิกโฉม “ดุสิตธานี” เป็น “รูฟพาร์ค” สวนสาธารณะลอยฟ้าพื้นที่ 7 ไร่บนอาคารย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพฯ จุดเช็กอินเพื่อเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกัน
การอำลาของ “ดุสิตธานี” โรงแรมระดับตำนานกว่า 50 ปีบริเวณหัวมุมถนนสีลม ย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพฯ แม้จะสร้างความอาลัยแก่ลูกค้าและพนักงาน หากแต่เป็นการจบเพื่อเริ่มต้นของสิ่งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างโครงการมิกซ์ยูส “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ที่รวมที่พักอาศัย สำนักงาน โรงแรมหรู และช็อปปิ้งมอลล์ไว้อย่างเบ็ดเสร็จ และที่สร้างความฮือฮาตามมาติดๆ เห็นจะเป็น (ว่าที่) แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของคนกรุงเทพฯ นั่นคือ “รูฟพาร์ค” (Roof Park) สวนสาธารณะลอยฟ้าพื้นที่ 7 ไร่บนตัวอาคารที่คิดและออกแบบโดยคำนึงถึงความต้องการของผู้คนที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
ในวงเสวนาเปิดแนวคิดการออกแบบสวนสาธารณะแห่งอนาคตที่จัดขึ้นภายในร้านอาหารเบญจรงค์ บ้านดุสิตธานี ซอยศาลาแดง ถนนสีลม กรุงเทพฯ เมื่อวันก่อน “แต๋ม” ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล เจ้าของอภิโปรเจ็คท์กว่าสามหมื่นล้านบาทแห่งนี้เปิดเผยว่า ถึงเวลาปรับโฉมดุสิตธานีให้เป็นไอคอนิคของกรุงเทพฯ อีกครั้ง เป็นศูนย์รวมของกิจกรรมทุกลักษณะ ทั้งอาคารสำนักงานที่ดี ที่พักอาศัยที่ดี ตลอดจนห้างสรรพสินค้าที่สามารถเชื่อมโยงจุดการจราจรที่เชื่อว่าดีที่สุดของกรุงเทพฯ ทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟใต้ดินเอ็มอาร์ที และเมื่อโครงการตั้งอยู่ตรงข้ามสวนลุมพินีปอดของคนเมืองจึงเป็นที่มาของโจทย์ใหญ่อย่าง “รูฟพาร์ค”
“เรามีความตั้งใจที่จะอุทิศพื้นที่ส่วนหนึ่งของโครงการให้มีความใกล้ชิดกับธรรมชาติ เปรียบเสมือนสวนสาธารณะอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่ทุกคนสามารถเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ หรือทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้ จึงนำโจทย์นี้ไปคุยกับทางแลนด์สเคป คอลลาบอเรชั่น เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้สร้างสรรค์พื้นที่ส่วนนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกคน ใช่เพียงการสร้างสวนสีเขียว หรือปลูกต้นไม้เท่านั้น แต่ต้องคิดถึงรายละเอียดของพรรณไม้ที่จะนำมาปลูก รวมไปถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่จะนำมาจัดวางร่วมกัน เพื่อให้สามารถใช้งานได้จริง สวยงาม และเกิดประโยชน์ที่ยั่งยืนต่อสังคม” นายหญิงกลุ่มดุสิตฯ เผย
ความสร้างสรรค์และท้าทายของการออกแบบภูมิสถาปัตย์ของโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่นี้อยู่ที่การออกแบบและปรับพื้นที่ทั้งหมดให้มีการเชื่อมต่อของชั้นดาดฟ้าค่อยๆ ไล่ไปตั้งแต่ชั้น 3 ถึงชั้น 6 และต่อเนื่องไปถึงชั้น 7 ประมาณความสูงจากพื้นดินที่ 20 เมตร จึงทำให้พื้นที่ 7 ไร่ของรูฟพาร์ค เป็นการสร้างสรรค์พื้นที่แนวสูงใจกลางเมือง ให้แวดล้อมด้วยสภาพธรรมชาติที่เอื้อให้เกิดระบบนิเวศ(Ecosystem) และนิเวศเมือง (Urban Ecology) ยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมเมืองที่สร้างความสุขความร่มรื่นให้กับการใช้ชีวิตของผู้คนยุคนี้
ในฐานะผู้รับหน้าที่เนรมิตสวนสาธารณะลอยฟ้าแห่งใหม่ใจกลางกรุง “จอร์จ” ธัชพล สุนทราจารย์ แห่งบริษัท แลนด์สเคป คอลลาบอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า งานออกแบบเป็นนวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัย สำหรับ “รูฟพาร์ค” งานดีไซน์พื้นที่สีเขียวที่มีความพิเศษเฉพาะตัวแห่งแรกของไทยนี้ สร้างสรรค์ขึ้นจากแรงบันดาลใจหลัก 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ การสร้างสรรค์ทัศนียภาพแบบไม่มีที่สิ้นสุด โดยยังคงทุกรายละเอียดการออกแบบที่สืบสานความเป็นโรงแรมดุสิตธานีที่มีอัตลักษณ์ความเป็นไทย ความเป็นธรรมชาติอันสมบูรณ์ ความสวยงาม และการสืบทอดความเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมาตลอด 50 ปี
ถัดมาคือการออกแบบให้มีความเฉพาะตัวของระบบนิเวศในกรุงเทพฯ สร้างความเป็นธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์เฉพาะในท้องถิ่น และสุดท้ายดีไซน์สำหรับชุมชนและสวนสาธารณะเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และใช้เป็นพื้นที่เพื่อการพักผ่อนและสันทนาการที่ตอบโจทย์การใช้งานและไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน
น่าสนใจว่างานออกแบบทั้งหมด ผู้สร้างสรรค์ไม่ได้เน้นแค่เรื่องความสวยงามของงานภูมิสถาปัตยกรรมเท่านั้น หากยังต้องการส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สร้างพลังขับเคลื่อนชีวิตและสังคม โดยพื้นที่ขนาดใหญ่สุดจะอยู่บริเวณชั้น 6 ออกแบบให้เป็นลานกิจกรรมตอบสนองการใช้ชีวิตของคนเมืองทุกเพศวัยและทุกสภาพร่างกายหรือ “ยูนิเวอร์ซอลดีไซน์” ให้ได้เข้ามาใช้ประโยชน์ตามความชื่นชอบท่ามกลางธรรมชาติ เช่น พื้นที่สำหรับรับประทานอาหาร พาครอบครัวมาปิกนิก มีสนามหญ้าให้เด็กๆ วิ่งเล่น สวนสำหรับน้องหมา-แมว สวนประติมากรรม บ้านต้นไม้ แปลงผักสวนครัว งานแสดงศิลปะ ดนตรี ภาพยนตร์กลางแจ้ง กิจกรรมเวิร์คช็อป ทางลาดสำหรับผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ เป็นต้น
นอกจากนี้สำหรับคนรักสุขภาพจะมีลู่วิ่ง เลนจ็อกกิ้งตามแนวดิ่ง หรือ “Trail Jogging) และเส้นทางจักรยาน เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติแบบลอยฟ้า (Natural Trail) เพื่อความเพลิดเพลินตลอดจนน้ำตกจำลองแบบขั้นบันไดเอกลักษณ์ของโรงแรมดุสิตธานีที่ดูแลระบบน้ำให้ใสสะอาดปราศจากคลอรีนด้วยการกรองจากทราย
สถาปนิกหนุ่ม แย้มว่าภายในอาณาบริเวณ 7 ไร่ ยังมีความพิเศษอีกอย่างนั่นคือ การศึกษาข้อมูลพรรณไม้ประจำถิ่นของกรุงเทพฯ โดยยึดตามที่ปรากฏในนิราศสุพรรณและนิราศภูเขาทอง ของ “สุนทรภู่” กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คัดสรรมาลงปลูกทั้งไม้ใหญ่และไม้พุ่มเตี้ยในลักษณะสังคมพืช เช่น เตย แว่นแก้ว เสน่ห์จันทร์แดง เดหลี ลำภู พัดโบก คูณ บอนดำ หมากเหลือง รวมถึงไม้น้ำจำพวกกก และลานไพลิน เป็นต้น เชื่อว่าหากเสร็จสมบูรณ์น่าจะเรียกสัตว์เล็กที่มีความสำคัญกับระบบนิเวศให้มาอยู่อาศัย อย่าง ด้วงกว่าง แมลงทับ ผึ้ง กระรอก กระแต ที่แน่ๆ ช่วยเพิ่มออกซิเจนและดักฝุ่น PM 2.5 ปัญหาสำคัญของเมืองใหญ่
สำคัญว่าเมื่อทอดสายตาจากรูฟพาร์คไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใดก็จะพบความต่อเนื่องของทัศนียภาพเชื่อมโยงกับสวนลุมพินีซึ่งเป็นมุมมองเดียวกับเซ็นทรัล พาร์ค ในมหานครนิยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทำให้การสร้างสรรค์รูฟพาร์คช่วยเพิ่มพื้นที่ปอดให้กรุงเทพฯ และเป็นสถานที่แห่งแรกและแห่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่สามารถเรียงร้อยเรื่องราวของทัศนียภาพความเขียวขจีของทั้งสองสวนเข้าด้วยกัน
“ระบบนิเวศมีหลายรูปแบบ อันนี้จะเป็นระดับไมโครหรือระบบนิเวศเล็กๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้หายไปจากกรุงเทพฯ เพราะเราเน้นปลูกพืชเชิงเดี่ยว หากโครงการนี้เสร็จเราจะได้เข้าใจธรรมชาติและผลกระทบของระบบนิเวศที่มีต่อคนมากขึ้น ” หนุ่มมือทองด้านงานภูมิสถาปัตย์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ คาดว่าสวนสาธารณะ “รูฟพาร์ค” โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค จะเผยโฉมให้เห็นและเปิดให้เข้าใช้บริการได้ภายในปี 2567 เบื้องต้นจะมีการจัดระเบียบการเข้าใช้ราว 1,500 คนต่อรอบ โดยจะมีระบบลงทะเบียนบันทึกข้อมูลการมาใช้บริการ และไว้สำหรับการแจ้งข่าวสารและกิจกรรมที่น่าสนใจในอนาคต สนใจข้อมูลเพิ่มเติม www.dusitcentralpark.com
อดใจรอสักนิดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า.....