นักเศรษฐศาสตร์ชี้ โควิด-19 กระทบเหลื่อมล้ำหวั่นเด็กหลุดนอกระบบการศึกษาเพิ่ม กสศ.จับมือครู3แห่งจัดทุนลดภาระใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมให้ครอบครัวนักเรียนยากจน
ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลกประจำสำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ยิ่งส่งผลให้ประเทศไทยมองเห็นปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ชัดเจนและหนักขึ้น การที่โรงเรียนต้องเลื่อนเปิดเทมออกไป 2 เดือน ทำให้เด็กต้องเรียนช้าลง ระยะเวลาสั้นๆ เราพอที่จะสอนชดเชยได้ แต่ที่ห่วงคือหากโรคโควิดระบาดอีกครั้งที่ 2 ถ้าโรงเรียนต้องเลื่อนเปิดเทมอออกไปอีกครึ่งปี หรือหนึ่งปี จะทำให้เด็กยากจนที่จากเดิมเข้าเรียนล่าช้ากว่าเกณฑ์อยู่แล้ว 1 ปี ต้องเข้าเรียนล่าช้าเพิ่มไปอีก ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นจะทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กยากจนต่ำลง สอดคล้องกับผลการสอบ PISA ปี 2020 ที่พบว่าเด็กมีผลการสอบต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึงร้อยละ 60 ดังนั้น หากไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ทันคาดว่าปี 2021 ผลการสอบ PISA ของเด็กยากจนจะยิ่งต่ำกว่าเกณฑ์มากขึ้นไปอีก
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า กสศ.ร่วมมือกับครู สพฐ.ตชด.และอปท. สำรวจความเสี่ยงการหลุดออกนอกระบบการศึกษาโดยจากข้อมูล 15มิ.ย.63 นักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 เสี่ยงมากที่สุด มีนักเรียนยากจนพิเศษ3,180 คน แยกเป็นระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 1,246 คน ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน1,914 คน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย(เฉพาะ ตชด.) จำนวน 20 คนเป็นตัวเลขเพียงร้อยละ 60 ของนักเรียนชั้นป.6 และ ม.3 ทั้งหมด161,000 คน ช่วงเปิดเทอมนี้ กสศ.ยังเปิดโอกาสให้คุณครูสามารถคัดกรองความยากจนของเด็กๆที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 และยังไม่เคยได้รับทุนเสมอภาคเข้ามาเพิ่มเติมได้ รวมถึงผู้ปกครองที่พบว่าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนตกอยู่ในสถานะยากจนหรือยากจนพิเศษก็สามารถแจ้งไปที่คุณครูประจำชั้นเพื่อได้รับสิทธิได้การคัดกรองเพื่อให้บุตรหลานได้รับทุนเสมอภาคช่วยเหลือเพิ่มเติมช่วงเดือน ส.ค.63
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา กสศ. กล่าวว่า สถานการณ์การศึกษาของไทยมีความเป็นไปได้ใน2ลักษณะ คือการปิดภาคเรียนยาวนานทำให้ความรู้หายไป และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เนทของนักเรียนส่วนใหญ่ ทำให้เกิดความแตกต่างของโอกาสและคุณภาพของการศึกษา ส่งผลให้มีนักเรียนในกลุ่มการเรียนรู้ต่ำกว่ามาตรฐานสูงขึ้นหากภาครัฐหรือชุมชนไม่เฝ้าระวังติดตามเด็กที่ครอบครัวได้รับผลกระทบ อาจทำให้มีเด็กออกจากโรงเรียน เนื่องจากบ้านขาดรายได้
ดร.ชนะ สุ่มมาตย์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กล่าวว่า ก่อนเปิดภาคเรียน1สัปดาห์ สพฐ.ลงพื้นที่สำรวจสภาพปัญหาและสภาพจิตใจของเด็กยากจนพบปัญหาส่วนใหญ่หลายครอบครัวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยตรงจึงแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพป.)ทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือผ่อนปรนค่าเล่าเรียน ลด และขยายเวลาชำระค่าเทอม ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดนอกระบบการศึกษา และยังได้วางแผนให้ทุกโรงเรียนมีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน คอยดูแลสภาพจิตใจเด็ก เพราะเชื่อว่าสถานการณ์โควิด-19ทำให้เด็กมีความเครียดสูง