กระทรวงพาณิชย์เปิดโครงการ DEmark สร้างมาตรฐานยกระดับผลงานนักออกแบบไทย แสดงศักยภาพการออกแบบสู่สากล
เมื่อผลงานของนักออกแบบไม่แพ้ชาติใดในโลก สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่ม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จึงได้เปิดโครงการพิจารณาคัดเลือกสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี ปี 2563 หรือ Design Excellence Award 2020 (DEmark) เพื่อส่งเสริมผลงานที่โดดเด่นด้านการออกแบบ และยกระดับสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับแพร่หลายในตลาดโลก ด้วยแนวคิด Circular Design, Cycle of Life ดีไซน์หมุนเวียนเปลี่ยนโลก ซึ่งเปิดรับสมัครนักออกแบบ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก เข้าร่วมโครงการ จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563
ประธาน ธีระธาดา บรรณาธิการนิตยสาร art4d และกรรมการตัดสินรางวัล DEmark เล่าถึงงานออกแบบช่วงเริ่มโครงการ “ จากยุคเริ่มต้นของงานประกวดการออกแบบโครงการ DEmark Award ที่ชิ้นงานมีความโดดเด่นในด้านงานฝีมือ Craft Modern Design เป็นเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมของไทย ช่วงนั้นผลงานที่ออกแบบให้โรงแรมและสปาจะได้รับความนิยม จนกระทั่งมีการพัฒนามาถึงงานที่ต้องมี Innovation เพื่อตอบรับกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง ทุกเรื่องราวของงานออกแบบล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเล่าซ้ำๆ เกี่ยวกับความต้องการของผู้บริโภคแทบทั้งสิ้น”
ผลงานเมื่อก่อน เราคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นอันดับแรก ต้องสวยงาม ต้องมีประโยชน์ใช้สอยพร้อมด้วยคุณค่า และตอบโจทย์การตลาด โดยที่ไม่ได้คิดถึงเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ แต่เมื่อถึงวันที่จังหวะของธรรมชาติมาเตือน...สุขภาพ ความยั่งยืน และธรรมชาติ จะเป็นเรื่องเล่าเรื่องใหม่ที่ทุกคนต้องหันมาฟัง เพราะมันเป็นเรื่องของ “ทุกคน”
ในฐานะของกรรมการตัดสินงานออกแบบ โดยส่วนตัวคิดว่า โจทย์อันดับแรกของงานออกแบบ ทุกวันนี้คือเราอยากให้นักออกแบบมองว่า งานชิ้นนี้ต้องไม่ทำลายธรรมชาติ ดีไซน์เนอร์ต้องอธิบายได้ ว่างานของคุณสวย โดยไม่ทำลายธรรมชาติได้อย่างไร มันเป็นโจทย์บังคับโดยปริยาย
นอกจากนี้ แนวโน้มของการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถดึงให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมใน กระบวนการผลิตได้ จะเป็นที่น่าสนใจ เพราะผู้บริโภคยุคใหม่สนใจใคร่รู้ที่มาทิ่ไปของผลิตภัณฑ์ ถ้ายิ่ง สามารถตามไปหาและได้รู้เห็นไปถึงแหล่งผลิตว่าไม่ได้ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะยิ่งชื่นชมและ ยินดีจ่าย เพราะเม็ดเงินที่จ่ายไปมันคือคุณค่าที่เรามีส่วนร่วมในการส่งเสริมและอนุรักษ์ รับรู้ได้ทั้งต่อ ตนเอง ต่อสังคมและชุมชน
ศิลปะ กับ ขยะ มันเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร
กับคำถามที่ว่า ศิลปะ กับ ขยะ มันเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร เขามองว่า “ขยะ” คือทรัพยสิน เมื่อ ของที่ควรเป็นขยะ แต่เราไม่ปล่อยให้เป็นขยะ มันจะกลายเป็นของที่มีมูลค่า แต่มันจะดีมากกว่า ถ้าเราไม่สร้างขยะให้เกิดเพิ่มขึ้นอีก ที่สำคัญ เราไม่ควรให้เกิดของเหลือใช้ ตัวอย่าง นักเดินทางคนเดียว เมื่อเข้า พักในโรงแรม ก็จะได้เจอกับ สบู่ แชมพูสระผม ที่ทางโรงแรมจัดเตรียมให้เป็นขวดเล็กๆ ซึ่งสำหรับคนคนเดียวใช้ไม่หมด มันเสียของ งานออกแบบก็จะเข้ามามีส่วนช่วยเพื่อไม่ให้มีของเหลือทิ้ง อีกหน่อยคงต้อง หันมาปรับการออกแบบเป็นแบบกดใช้ให้พอเหมาะในแต่ละครั้ง จะเห็นได้ว่า พอพฤติกรรมคนเปลี่ยน มีจิตสำนึกร่วมมากขึ้นกับชุมชนกับสังคม งานออกแบบก็ต้องปรับไปด้วย และนี่คือแนวคิด Circular Design เขาขยายความคิด
แนวคิด Circular Design, Cycle of Life ดีไซน์หมุนเวียนเปลี่ยนโลก
กับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤติ COVID-19 ประธานให้มุมมองว่า “ในฐานะนักออกแบบ เราต้องเตรียมตัว สำหรับ Post COVID เราต้องเข้าใจสถานการณ์ เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบกับชีวิต ความเป็นอยู่ของมนุษย์ เข้าใจถึงความต้องการของคน ซึ่งช่วงนี้เป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะได้เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะผู้คนกำลังตกใจ และไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไร ถ้าเราสามารถเสนอทางเลือกให้กับผู้คนได้เราจะเป็นผู้นำตลาด ใครคิดได้ก่อน มีโอกาสรวยก่อน เพราะโลกกำลังหาแนวทางใหม่เพื่อความอยู่รอด”
ดังนั้น เราควรเน้นสร้างผลงานที่ส่งผลต่อการมีชีวิตและมีสุขภาพที่ดี อยู่ในสังคมสภาพแวดล้อมที่มีคุณภาพ ทำลายธรรมชาติให้น้อยที่สุด โครงการ DEmark Award ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมผลงานที่โดดเด่นด้านการออกแบบ และยกระดับสินค้าไทยให้เป็นที่ ยอมรับแพร่หลายในตลาดโลกปีนี้ด้วยแนวคิด Circular Design, Cycle of Life ดีไซน์หมุนเวียนเปลี่ยนโลก จะช่วยกระตุ้นให้กระแสการดูแลรักษาโลกใบนี้ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น มันจะเป็น “เรื่องเล่า” อีก เรื่องที่ เราควรต้องช่วยกันสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงเป็นวงกว้าง และเราต้องเริ่มที่ตัวเราเองก่อน