กสศ.เป็น 1 ใน 5 องค์กรชั้นนำด้านการศึกษา นำเสนอผลวิจัยแนวทางใช้มาตรการส่งเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปความเสมอภาคทางการศึกษา ในการประชุมประจำปีของมูลนิธิเลโก้
เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้อำนวยการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า กสศ.ได้รับเชิญจากมูลนิธิเลโก้หรือ LEGO Foundation หนึ่งในองค์กรด้านการเรียนรู้ที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ เข้าร่วมประชุมประจำปีของมูลนิธิ หรือ LEGO Idea Conference ระหว่างวันที่ 10 -11 มี.ค.ซึ่งถือเป็นงานประชุมที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดวาระการปฏิรูปและการพัฒนานวัตกรรมด้านการเรียนรู้ในระบบการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยปีนี้เป็นการประชุมในหัวข้อ Creating Systems-how can education systems reform to enhance learners creativity skills? ซึ่งมุ่งสังเคราะห์ประสบการณ์การปฏิรูประบบการศึกษาที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติให้สามารถส่งเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับสมบูรณ์ ได้ที่ www.eef.or.th
ดร.ไกรยส กล่าวว่า เนื่องจากมีอุปสรรคจากการระบาดของโคโรน่าไวรัสทำให้ไม่สามารถจัดการประชุมในประเทศเดนมาร์กได้ มูลนิธิเลโก้ได้เปลี่ยนมาจัดการประชุมทางไกล Virtual-conference ผ่านทาง legoideaconference.net มีผู้แทนหน่วยงานด้านการศึกษาระดับนานาชาติกว่าหลายสิบประเทศเข้าร่วม โดย กสศ.ได้รับเชิญร่วมเวทีสังเคราะห์ประสบการณ์ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อส่งเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์ร่วมกับผู้กำหนดนโยบายอีก 4 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สก็อตแลนด์ และเวลส์ เข้าร่วม โดย กสศ.ได้นำเสนอประสบการณ์การทำงานร่วมกับองค์การ OECD และอีก 14 ประเทศ ในการวิจัยพัฒนาเครื่องมือส่งเสริมและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ ซึ่งได้ทดลองประสบความสำเร็จแล้วในโรงเรียน 400 แห่งทั่วประเทศที่ดำเนินการมาแล้ว 3 ปี นับเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมอย่างมากในการใช้เครื่องมือนี้หนุนเสริมกระบวนการปฏิรูปความเสมอภาคทางการศึกษาเชิงระบบทั้งในด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเพิ่มคุณภาพการศึกษาควบคู่กันไป เนื่องจากกลุ่มโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่มีเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา
รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า จากการสำรวจผู้จ้างงานตลอด 5-10 ปีที่ผ่านมา ทักษะความคิดสร้างสรรค์เป็น 1 ใน 3 ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นที่ต้องการสูงสุดในตลาดแรงงานทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย หากเด็กเยาวชนได้รับการส่งเสริมพัฒนาทักษะดังกล่าวตั้งแต่ในวัยเรียน ย่อมจะเป็นประโยชน์ทั้งในการศึกษาต่อ และการประกอบอาชีพในอนาคต ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม หากเด็กเยาวชนในครอบครัวที่มีรายได้น้อยได้รับการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้น ช่วยให้พวกเขาสามารถนำพาครอบครัวก้าวออกจากความยากจนได้ในอนาคต ทักษะความคิดสร้างสรรค์ยังเป็นประโยชน์ต่อการก้าวออกจากประเทศรายได้ปานกลางสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 20 ปีของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากความท้าทายของสังคมสูงวัยในปัจจุบัน ซึ่งประชากรที่ออกจากกำลังแรงงานมีจำนวนมากกว่าประชากรวัยแรงงานรุ่นใหม่ที่เข้าสู่กำลังแรงงาน ดังนั้นหากสัดส่วนกำลังแรงงานรุ่นใหม่ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง มีผลิตภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นด้วยทักษะความคิดสร้างสรรค์ ที่จะเป็นประโยชน์ในเมื่อถูกใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในยุค 5G ย่อมจะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่มั่นคงและยั่งยืนได้ในอนาคต สู่การก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางเป็นประเทศรายได้สูงตามเป้าหมาย 20 ปีของประเทศ
"รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ โดยในปีการศึกษา 2563 สพฐ. มีแผนที่จะร่วมสนับสนุนการขยายผลการใช้เครื่องมือนี้ สู่ 42 เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาทั่วประเทศ ผ่านกลไกของศึกษานิเทศก์และสถานศึกษาแกนนำเขตละ 2 สถานศึกษา รวมทั้งในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อเป็นกลไกในการขยายผลการดำเนินงานในระดับประเทศต่อไป โดย กสศ. ทำหน้าที่ในฐานะตัวกลางประสานงานกับทุกฝ่าย ทั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ องค์การภาครัฐ เอกชน หน่วยงานวิชาการจากทั้งในและต่างประเทศ ในการนำมาตรการที่ร่วมกับ OECD มาปฎิบัติ เพื่อให้เด็กไทยมีทักษะคิดวิเคราะห์ และคิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อสนับสนุนโรงเรียนต้นแบบที่ใช้เครื่องมือส่งเสริมและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และทักษะการคิดวิเคราะห์ในทุกชั้นเรียนของโรงเรียนทั้งระดับประถมและมัธยมศึกษาในอนาคต" ดร.ไกรยส กล่าว
ขณะที่ นายจอห์น กู๊ดวิน ผู้บริหารของมูลนิธิเลโก้ CEO the LEGO Foundation กล่าวว่า จากการประชุมในครั้งนี้สามารถสรุป 10 บทเรียนความสำเร็จในการปฎิรูปเพื่อพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ ประกอบด้วย 1.การเรียนรู้ผ่านการเล่น 2.การสนับสนุนอย่างมีประสิทธิภาพ 3.การเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่ไม่เพียงแค่หน่วยงานรัฐ 4.การแบ่งปันความเข้าใจ ภาษา และนิยามของความคิดสร้างสรรค์จะช่วยให้เกิดการนำมาประยุกต์ใช้ในวงกว้าง 5.องค์กรระหว่างประเทศสามารถเข้ามาสนับสนุนการปฎิรูปได้ 6.คุณครูและผู้นำท้องถิ่นมีบทบาทหลักในการปฎิรูป 7.หลักสูตรที่ชัดเจนจะเป็นแนวทางให้กับนักเรียนและคุณครู 8.ภาครัฐให้ความสำคัญกับเรื่องความคิดสร้างสรรค์ 9.การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบถือเป็นหลักการสำคัญ และ 10.การประเมินวัดผล
"เป้าหมายในการจัดการประชุมครั้งนี้ มีขึ้นเพื่อให้เป็นแนวทางและจุดริเริ่มของนานาประเทศในการปฎิรูประบบการศึกษาในประเทศของตัวเองเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ โดยความรู้และวิธีการที่ถ่ายทอดอยู่ในรายงานทั้งหมดไม่มีผิดหรือถูก มีเพียงแต่ความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพบริบทของสังคมและธรรมชาติของผู้เรียนเท่านั้นเป็นสำคัญ ทางมูลนิธิเลโก้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลการศึกษาในครั้งนี้ จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนให้มีการปฎิรูปเพื่อความคิดสร้างสรรค์ เป็นแหล่งข้อมูลและเป็นแรงบันดาลใจสำหรับแนวทางการปฎิรูปการศึกษา และเป็นเหมือนตัวจุดประกายให้เกิดการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมด้านความคิดสร้างสรรค์ในวงการการศึกษาต่อไป" นายจอห์น กล่าว