LIFESTYLE

โดย กองบรรณาธิการ M2F

11 มีนาคม 2563 : 15:16 น.

มธบ.หนุน นศ.ค้นหาตัวตน ผ่านการจัดกิจกรรม Playfessional เชิญกูรูวงการอาหาร แนะอาชีพมาแรง Food Designer พร้อมเปิดรายได้ที่น่าทึ่งทำเงินหลักหมื่นต่อวัน

วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ (CIM) และวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) แห่งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ร่วมกันจัดกิจกรรม Playfessional ชอบทางไหนต้องไปให้สุด ในหัวข้อ “Food Design” โดยมี ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน

ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้าน Food Design อาทิ เชฟแจน-จอมชญา พงศ์ภัทรเวท Chef Food Design and Consult และคุณแพตตี้-พิชญา ศิริวงศ์รังสรร Food Designer มาร่วมเผยประสบการณ์ตรงในวงการอาหาร รวมถึงเทคนิคการสร้างสรรค์ศิลปะบนจานอาหาร วิธีเพิ่มมูลค่า และสร้างความโดดเด่นให้อาหารด้วย The Art of Plating พร้อมเจาะลึกอาชีพ Food Designer& Food Stylist อาชีพมาแรงที่คนทำอาหารไม่เป็นก็สามารถประกอบอาชีพนี้ได้

นายจอมชญา พงศ์ภัทรเวท หรือเชฟแจน Chef Food Design ang Consult เปิดเผยว่า ปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยนไป ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปด้วย เฉกเช่นการเสพอาหารคนไม่ได้เสพที่รสชาดเพียงอย่างเดียว แต่เสพภาพลักษณ์ของร้านและหน้าตาของอาหาร ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารมีการแข่งขันกันสูงขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการร้านอาหารจึงมองหาสิ่งแปลกใหม่ เพื่อดึงดูดความสนใจและเพิ่มมูลค่าให้กับอาหารแต่ละเมนู ทำให้อาชีพ Food Design เกิดขึ้นในวงการนี้ โดยการดีไซด์อาหาร ไม่จำเป็นต้องสวยอย่างเดียว ต้องสามารถตอบโจทย์อะไรบางอย่างที่สื่อถึงความเป็นมาของร้านและวัตถุดิบที่ใช้ได้ด้วย เพื่อให้น่าสนใจจนผู้คนนำไปแชร์ ใน Facebook หรือ Instagram ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถช่วยโปรโมทร้านค้าทางออนไลน์ได้อย่างดี

เชฟแจน กล่าวด้วยว่า การตลาดในปัจจุบันใช้ Influencer มากกว่าโฆษณาในทีวี บางร้านที่มีชื่อเสียงแล้วยังต้องปรับกลยุทธ์เพื่อโปรโมทร้านโดยการรีโนเวทอาหารให้สวยงามแต่คงรสชาติเดิม จากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้เกิดอีกอาชีพในวงการอาหารนั้นคือ Food Stylist ซึ่งเป็นอาชีพที่มีความเข้าใจในเรื่องอาหารแต่ไม่จำเป็นต้องทำอาหารเป็น คนที่ทำอาชีพด้านนี้มีจุดเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์ โดยอาจจะนำวัตถุดิบ รวมถึงสิ่งรอบตัว และอาหาร มาผสมผสานจัดวางให้เกิดเอกลักษณ์หรือนำศิลปะมาผสมผสานวางไว้บนจานให้สวยงามเพื่อถ่ายรูปลงโฆษณา อาชีพนี้มีรายได้ดีทีเดียว บางรายสามารถทำรายได้ถึง 15,000 บาทต่อวัน ส่วนอาชีพ Chef Food Design ang Consult เป็นการออกแบบและคิดเมนูหรือรายการอาหาร บางเมนูเริ่มต้นที่ 5,000 บาท/เมนู อย่างไรก็ตามทั้ง 2 อาชีพดังกล่าว กำลังเป็นที่ต้องการในวงการอาหาร ขณะที่ผู้ประกอบอาชีพด้านนี้ยังมีอยู่น้อย เมื่อเทียบกับปริมาณของร้านอาหารที่เพิ่มขึ้น

“ฝากถึงน้องๆที่เรียนด้านอาหาร หากมีความฝันอยากเปิดร้านเป็นของตนเอง อยากให้ไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากที่เรียนมา เพราะสิ่งที่จะทำให้เกิดความต่างจากคนอื่น คือ ประสบการณ์ การเจอความผิดพลาด การเรียนรู้การทำอาหารแบบใหม่ ส่วนจุดเริ่มต้นที่ดีต้องไปเป็นลูกจ้างที่ร้านอาหารก่อน ศึกษาระบบบริการ จัดการ เพราะเป็นหัวใจสำคัญของการเปิดร้านอาหาร ที่สำคัญต้องศึกษาเทรนท์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่น การขายอาหารออนไลน์ เป็นตลาดใหม่ที่กำลังมาแรงและเป็นเรื่องที่ควรศึกษาเพิ่มเติม ในสายอาชีพอาหารจะประสบความสำเร็จได้ต้องหมั่นศึกษา หาประสบการณ์ พยายามฝึกและเรียนรู้ ยืนหยัดในสิ่งที่ทำจะประสบความสำเร็จ” เชฟแจน กล่าวทิ้งท้าย

น.ส.พิชญา ศิริวงศ์รังสรรค์ หรือคุณแพทตี้ Food Designer กล่าวว่า ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มาจุดประกายไอเดีย พร้อมเปิดโลกวงการอาหารให้น้องๆ รู้ว่าการทำอาหารในปัจจุบันไม่ได้อยู่แค่ในครัวต่อไป มีอีกหลากหลายอาชีพที่สามารถทำเงินได้ โดยใช้อาหารเชื่อมต่อ เช่น Food Designer เป็นอีกอาชีพที่ตอบโจทย์คนสมัยใหม่ การนำองค์ความรู้ด้านการทำอาหารที่เรียนมาผสมผสานกับความรู้ด้านการออกแบบ สามารถข้ามไปสู่อาชีพนี้ได้ ยกตัวอย่างงานที่เคยทำ โครงการ Full 2 Fulfill โดยร่วมกับมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม เป็นการออกแบบงาน Food Experience ชูคอนเซ็ปต์ชวนเพื่อนมาทานข้าวถาดหลุมย้อนวันวานถึงอาหารในวัยเด็ก เพื่อเป็นสื่อกลางให้คนเข้ามาทำความรู้จักกับมูลนิธิและร่วมบริจาคเงินเพื่อการกุศล โดยก่อนตกแต่งจานอาหารได้ทำการ Researchและออกแบบตกแต่งใหม่ ให้น่ารับประทานมากขึ้น โดยอาหารที่มาประดับบนจานได้ว่าจ้างแม่ครัวของมูลนิธิเป็นผู้รังสรรค์ให้ ถือเป็นการส่งเสริมให้คนในชุมชนมีรายได้เสริมด้วย

“สำหรับคนที่เรียนทำอาหาร แต่ไม่อยากอยู่ในครัวอาชีพ Food Designer เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสามารถต่อยอดเป็นครูสอนทำอาหาร ทำธุรกิจเล็กๆหรือเวิร์คช็อปเล็กๆได้ ขณะเดียวกันความรู้ที่เรียนมามีความสำคัญทั้งหมด ขึ้นอยู่ว่าจะหยิบส่วนไหนไปใช้ทำอะไร ถ้าอยากก้าวเข้าสู่ อาชีพ Food Designer ต้องเพิ่มทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ หรือเปิดโลกให้กว้างมากขึ้น เช่น ชมพิพิธภัณฑ์ รีวิวในอินเทอร์เน็ต และร่วมทำเวิร์คชอปบ่อยๆ เก็บสะสมเพิ่มองค์ความรู้ระหว่างเรียนจะเพิ่มโอกาสในสายงานดังกล่าวได้”น.ส.พิชญากล่าว

นายชลธิติ ศรีกัลยานุกูล หรือน้องปริ้น นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวในตอนท้ายว่า ทั้ง 2 อาชีพที่วิทยากรได้แนะนำนี้เป็นอาชีพที่น่าสนใจมาก โดยในอนาคตประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เทรนท์อาหารสุขภาพน่าจะมาแรงและมีโอกาสเติบโตสูง ดังนั้น จึงมั่นใจว่าอาชีพด้านออกแบบอาหารก็จะมีความก้าวหน้าในอนาคตตามไปด้วยเช่นกัน จึงคิดว่าตัดสินใจไม่ผิดที่เลือกเรียนด้านการประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยสอนไม่ใช่แค่การทำอาหาร แต่เป็นความรู้ด้านโภชนาการและการเลือกใช้วัตถุดิบ จึงสามารถนำความรู้ไปต่อยอดในวงการอาหารได้อีกมาก ซึ่งอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ที่ยังไงก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น

ข่าวที่น่าสนใจ