LIFESTYLE

โดย กองบรรณาธิการ M2F

27 มกราคม 2563 : 13:51 น.

Shibal Biyong ปรากฏการณ์ควักเงินหมดหน้าตักแลกความสุข จุดกำเนิดความคิดของชาวเกาหลีใต้ที่เริ่มขยายไปในหลายประเทศ รวมถึงไทย

เทรนด์การจ่ายเงินเพื่อเยียวยาความสิ้นหวังฉบับหนุ่มสาวเกาหลีใต้ หรือที่ถูกเรียกกันว่า "Shibal biyoung" หากแปลตรงตัวก็คือ "ซื้อๆ ไปเถอะ" พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้แสดงว่าหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไม่ประเมินความเสี่ยงในชีวิต แต่พวกเขาคิดมาอย่างดีแล้วว่า อนาคตมัน "ไร้ซึ่งความหวัง" จึงเลือกที่จะใช้และวางแผนการเงินในระยะสั้นๆ แบบที่พอจะให้ตัวเองมีความสุขและดำเนินชีวิตต่อไปได้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น หลายคนเลือกซื้อความสบายโดยการนั่งรถมอเตอร์ไซค์วิน เรียกรถแท็กซี่ หรือใช้บริการเรียกรถผ่านแอพพลิเคชั่นให้มารับถึงที่ แม้สนนด้วยราคาแสนแพงแทนรถประจำทางสาธารณะที่ราคาย่อมเยากว่า แต่เพราะเหน็ดเหนื่อยเกินจะต่อสู้กับความหนาแน่นกับผู้คนจึงยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อแลกกับความสบาย

บางคนช็อปกระจายทั้งในออนไลน์และออฟไลน์เพื่อเยียวยาความเครียดจากการทำงาน หรือเลือกสนองความต้องการตอบโจทย์ความสะดวกสบายด้วยเทคโนโลยีที่ราคาค่าใช้จ่ายสูงมาก เช่น รถยนต์รุ่นใหม่ สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ทั้งที่ของที่มีอยู่ยังใช้ได้ดี

ในสังคมเกาหลีใต้ 70% ของกลุ่ม Gen Y มองว่าปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในประเทศเป็นปัญหาสำคัญที่สุด และมันทำให้พวกเขารู้สึกว่ามันไม่มีอนาคตที่แน่นอนทั้งทางเศรษฐกิจ หรือคุณภาพชีวิตก็ตาม ดังนั้นในเมื่อไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นก็เอาเงินที่มีอยู่มามีความสุขในวันนี้

นี่ไม่ใช่คลื่นของความสิ้นหวังที่มีแค่ในเกาหลีใต้ แต่กำลังขยายไปยังคนรุ่นใหม่ทั่วโลก เช่น แคนาดา ที่กำลังเผชิญกับสภาวะฟองสบู่แตกของที่อยู่อาศัยและปัญหาการว่างงาน และน่ากลัวที่คนไทยก็เริ่มมีพฤติกรรมแบบนี้ให้เห็นมากขึ้น เห็นได้จากค่าเฉลี่ยคน GEN Y ที่ยอมสูญเงินไปกับ "ของมันต้องมี" อย่างเช่นมือถือ เครื่องสำอาง กระเป๋า เฉลี่ย 95,000 บาทต่อคนต่อปี แม้ว่าที่ไทยจะยังไม่ได้มีการพูดถึง Shibal Biyong กันชัดเจน แต่พฤติกรรมที่ปรากฏก็นับว่ามีความใกล้เคียงอย่างยิ่ง

ข่าวที่น่าสนใจ