LIFESTYLE

โดย กองบรรณาธิการ M2F

22 มกราคม 2563 : 13:55 น.

PM2.5 กับปัญหาสุขภาพ กระทบส่วนไหน กระทบใคร ป้องกันได้อย่างไรบ้าง

ประเทศไทยต้องรับมือกับปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ต่อเนื่องเป็นปีที่สองแล้ว และปีนี้ยังมีทีท่าว่าจะสาหัสและอยู่ยาวนานกว่าครั้งก่อน ฝุ่นยิ่งละอองมีขนาดเล็กลงเท่าใด ก็ยิ่งเป็นอันตรายคุกคามต่อสุขภาพเท่านั้น เนื่องจากมีขนาดเล็กพอที่จะเข้าไปลึกถึงปอดและทางเดินหายใจ บางอนุภาคอาจจะเข้าไปถึงกระแสเลือดและไหลเวียนทั่วร่างกายของเราได้ในที่สุด

ผลกระทบจากมลพิษละอองฝุ่นดังกล่าวต่อสุขภาพนั้นร้ายแรงกว่าที่คิด

จากงานศึกษาวิจัยสำคัญๆ ในระยะสิบปีที่ผ่านมา ยืนยันไปในทิศทางเดียวกันว่า มลพิษทางอากาศเป็นอันตรายคุกคามสุขภาพของเรามากกว่าที่เราเคยเข้าใจ องค์การอนามัยโลกประมาณการว่ามีประชากรที่ต้อง “ตายก่อนเวลาอันควร” เนื่องจากมลพิษในอากาศทั่วโลกมากกว่า 6 ล้านคนในแต่ละปี และในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบราวร้อยละ 10 คือประมาณ 600,000 คน เมื่อคุณภาพอากาศเลวลง อัตราการไปห้องฉุกเฉินและการเข้าอยู่โรงพยาบาลจะสูงขึ้น เพราะมลพิษทำให้ปัญหาสุขภาพที่มีอยู่กำเริบขึ้น และเป็นเหตุให้หัวใจวาย หลอดเลือดในสมองตีบ หอบหืดกำเริบ และอื่นๆ อีกมากมาย

อันตรายคุกคามต่อหัวใจ

การเผชิญกับมลพิษในอากาศอาจทำให้เกิดเหตุรุนแรงเฉียบพลันกับกล้ามเนื้อหัวใจได้ รวมทั้งหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ อัตราการผันแปรการเต้นของหัวใจลดลง ตลอดจนมีความเสี่ยงที่จะเกิดการตายจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน นอกจากนั้น ยังมีหลักฐานปรากฏด้วยว่า ภาวะหลอดเลือดแข็ง โดยที่มีการสะสมตะกอนที่เรียกว่าพลาคภายในหลอดเลือดซึ่งสามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจวายและหลอดเลือดสมองตีบจนถึงตายได้

อันตรายคุกคามต่อปอดและระบบทางเดินหายใจ

มลพิษในอากาศเป็นทั้งสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับปอดและระบบทางเดินหายใจและที่ทำให้โรคกำเริบขึ้นได้ ซึ่งรวมถึงโรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด

ฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน มีขนาดเล็กมากพอที่จะหายใจเข้าไปสู่ปอด และซึมผ่านผนังปอดเข้าสู่กระแสเลือด ดังนั้นแล้วผลที่เกิดขึ้นกับร่างกายจึงมีทั้งแบบเฉียบพลัน (เห็นผลใน 1-2 วัน) ซึ่งส่วนมากจะเกิดกับระบบทางเดินหายใจ คือ ไอ เจ็บคอ หายใจแล้วมีเสียงฟืดฟาด เลือดกำเดาไหล ซึ่งหากเลือดไหลลงคอก็จะทำให้เสมหะมีเลือดเจือปน ส่วนผลแบบเรื้อรัง ที่ค่อยๆ สะสมแล้วแสดงผลในระยะยาว คือการเป็นมะเร็งปอด เพราะฝุ่นขนาดเล็กจะมีสารก่อมะเร็ง Polycyclic Aromatic Hydrocarbon (PAH) นอกจากนั้นแล้ว อีกโรคหนึ่งที่น่าตระหนักถึงความอันตรายของฝุ่น PM 2.5 คือโรคถุงลมโป่งพอง ซึ่งมีความอันตรายเช่นเดียวกับการสูบบุหรี่

อันตรายคุกคามผิวหนัง

ผลกระทบต่อผิวหนังจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้น และระยะเวลาของการสัมผัสฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ผลกระทบแบบเฉียบพลัน คือทำลายเซลล์ผิวหนังกำพร้าของมนุษย์โดยตรง ทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนังที่มากขึ้นได้

งานวิจัยจากประเทศเนเธอร์แลนด์ พบว่า ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 เพียงแค่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็สามารถกระตุ้นการอักเสบของผิวหนังได้แล้ว ซึ่งฝุ่นละอองนี้จะทำให้การทำงานของเซลล์ผิวหนังผิดปกติไป ทั้งในด้านกลไกการป้องกันของผิวหนังจากสิ่งแวดล้อมภายนอก และการซ่อมแซมผิวหนัง

นอกจากนั้น ยังทำลายโปรตีนที่ผิวหนังที่ชื่อ Filaggrin ซึ่งมีหน้าที่เป็นโปรตีนที่ช่วยป้องกันผิวหนัง และเพิ่มการหลั่งสารกระตุ้นการอักเสบที่ผิวหนัง ดังนั้น เมื่อผิวหนังสัมผัสกับฝุ่นละออง PM 2.5 ก็จะเกิดการอักเสบ ระคายเคืองที่ผิวหนังได้ อีกทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สามารถจับตัวกับสารเคมีและโลหะต่างๆ และนำพาเข้าสู่ผิวหนัง มีผลทำร้ายเซลล์ผิวหนัง และกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบของเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นคันที่ผิวหนัง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคผิวหนังเดิมอยู่แล้ว เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนัง ผื่นผิวหนังอักเสบ สะเก็ดเงิน สิว ผมร่วง จะทำให้มีการระคางเคือง คันมากขึ้น ผื่นกำเริบมากขึ้นได้

ผลกระทบแบบเรื้อรัง คือทำให้ผิวเสื่อมชราได้เร็วยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากปัจจัยด้านการถูกแสงแดดและการสูบบุหรี่ มลพิษ PM2.5 ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระที่สามารถส่งผลร้ายต่อเซลล์ผิวหนังมนุษย์ ทั้งในกระบวนการสร้างเซลล์ ซึ่งส่งผลต่อภาวะความชราของผิวหนัง รวมถึงจุดด่างดำบนชั้นผิวหนังด้วย โดยพบว่ามีการเกิดจุดด่างดำบริเวณใบหน้าเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีการเกิดริ้วรอยบริเวณร่องแก้มมากขึ้นด้วย อีกทั้งยังพบการลดลงของการทำงานในระบบภูมิคุ้มกันที่ผิวหนังด้วยเช่นกัน

อันตรายคุกคามต่อสมอง

เป็นที่เชื่อกันว่าการเผชิญกับมลพิษในอากาศเป็นระยะยาวเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้หลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัว ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และความหนืดของเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดในสมองได้

ในเด็กมีหลายงานวิจัยที่ยืนยันถึงความสัมพันธ์ของระดับ PM 2.5 ต่อความผิดปกติทางด้านพัฒนาการทางสติปัญญา อาทิเช่น มีสติปัญญาด้อยลง (Global Intelligence Quotient; IQ), การพัฒนาการช้าลง (ทั้ง Cognitive และ Psychomotor Development), มีปัญหาการได้ยินและการพูด รวมทั้งยังมีผลทำให้เกิดภาวะสมาธิสั้น (Attention Deficit) และภาวะออทิซึม (Autism) เพิ่มมากขึ้นถึง 68% 

ในผู้ใหญ่พบว่า การได้รับฝุ่น PM 2.5 ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์เพิ่มมากขึ้นถึง 3 เท่า และทำให้เกิดโรคพาร์กินสันเพิ่มได้ถึง 34% (Fu, 2019) รวมทั้งยังทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดสมอง (Stroke) เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยทุก ๆ 10 μg/m3 ของระดับ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดสมองประมาณ 13% ถ้าได้รับฝุ่นจิ๋วในระดับความเข้มข้นที่เพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงก็จะเพิ่มมากขึ้น โดยในกลุ่มคนที่เป็นโรคเส้นเลือดสมองอยู่แล้ว การได้รับ PM 2.5 ยังเป็นการเพิ่มอัตราการตายในคนกลุ่มนี้อีกด้วย

คนที่ออกกำลังกายในสถานที่ที่มีฝุ่น PM2.5 จำนวนมาก จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพสมอง และเพิ่มอัตราการเกิดโรคเส้นเลือดสมอง การรับประทานผักและผลไม้ (มากกว่า 3.5 serving ต่อวัน) จะช่วยลดผลกระทบของฝุ่นจิ๋วต่อร่างกายได้ เนื่องจากผลของสารต้านอนุมูลอิสระที่มีในผักและผลไม้

ในกลุ่มคนที่เป็นโรคปวดศีรษะไมเกรน ซึ่งสมองจะมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าคนปกติ ฝุ่น PM2.5 รวมทั้งมลพิษในอากาศชนิดอื่นๆ สามารถเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงขึ้นมาได้ โดยพบว่าในช่วงเวลาที่มีฝุ่นขนาดจิ๋วอยู่ในระดับสูง เช่น ฤดูหนาว จะพบคนที่เป็นไมเกรนเกิดอาการปวดศีรษะรุนแรง จนต้องไปพบแพทย์เพื่อฉีดยาที่ห้องฉุกเฉินเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงปกติประมาณ 4-13%

อันตรายคุกคามต่อกระดูก

ข้อมูลของทีมนักวิจัยนานาชาติ นำโดยสถาบันเพื่อสุขภาพโลกแห่งบาร์เซโลนา (ISGlobal) ของสเปน ตีพิมพ์ผลการศึกษาล่าสุดลงในวารสารการแพทย์ JAMA Network Open โดยระบุว่าประชากรวัยผู้ใหญ่ตอนต้นของเมืองที่มีฝุ่นละออง PM2.5 ในระดับสูง มีแนวโน้มที่สัดส่วนแร่ธาตุในกระดูกจะลดน้อยถอยลงกว่าปกติ

อีกทั้งก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่เผยแพร่เมื่อปี 2017 ชี้ว่ามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 ในเมืองบอสตันของสหรัฐฯ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้ป่วยกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนถึงกว่า 86,000 รายต่อปี

อันตรายคุกคามต่อดวงตา

โรคเยื่อบุตาอักเสบ หรืออาการตาแดง เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือมลพิษในอากาศ เช่น ฝุ่นควันจาก PM 2.5 เมื่อฝุ่นละอองเข้าสู่เยื่อบุตาจนเกิดการอักเสบ ดาแดง แสบตา คันตา ถ้าไม่รุนแรงมาก อาการจะหายไปเองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่การพบแพทย์เพื่อใช้ยาก็จะช่วยให้หายเร็วขึ้น

ใครอยู่ในกลุ่มที่มีภาวะความเสี่ยงสูง?

เด็ก

ส่วนใหญ่แล้วเด็กมักใช้เวลาอยู่กลางแจ้งเพื่อเล่นกีฬาและทำกิจกรรมนอกบ้าน ยิ่งอายุน้อยเท่าใด ความเสี่ยงยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ปอดและระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังอยู่ในระยะที่กำลังพัฒนา การเผชิญกับมลพิษในอากาศจะขัดขวางการเจริญเติบโตของปอดในเด็กในวัยเรียน นอกจากนั้น เด็กยังมีอัตราที่จะเป็นโรคหอบหืดและโรคระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงอื่นๆ มากกว่า ซึ่งโรคเหล่านี้กำเริบขึ้นได้อย่างง่ายดายเมื่อระดับมลพิษสูง

มีผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Proceedings of the National Academy of Sciences พบว่าการได้รับมลพิษทางอากาศ รวมทั้งฝุ่น PM 2.5 มีผลต่อระบบความจำและสมาธิของเด็ก และจะส่งผลเสียต่อสมองของเด็กคนนั้นไปตลอดชีวิต

หญิงมีครรภ์

การเผชิญกับมลพิษในอากาศจากฝุ่นละอองในระดับสูงระหว่างตั้งครรภ์มีความเชื่อมโยงกันกับการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวทารกแรกคลอดต่ำ และความเสี่ยงที่จะเกิดการแท้งบุตรและอัตราการตายของทารกเพิ่มขึ้น

ผู้สูงวัย

ต้องเผชิญกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะมีปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับมลพิษ ทั้งนี้เพราะระบบภูมิคุ้มกันของผู้สูงอายุมักจะอ่อนแอลง และร่างกายมักจะมีความสามารถน้อยลงที่จะรับมือกับมลพิษในอากาศ นอกจากนั้น ผู้สูงอายุยังมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะมีอาการเกี่ยวกับโรคหัวใจหรือระบบทางเดินหายใจที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยซึ่งกำเริบขึ้นเนื่องจากมลพิษในอากาศ

ผู้ที่เป็นโรคปอดหรือโรคหัวใจ

เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหอบหืด โรคถุงลมในปอดโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีความเสี่ยงมากขึ้นเนื่องจากอนุภาคฝุ่นละอองสามารถทำให้สภาวะโรคที่มีอยู่ก่อนหน้านี้กำเริบขึ้นได้

เราสามารถลดทอนอันตรายที่อาจเกิดกับคุณได้ โดยการเฝ้าตรวจสอบระดับมลพิษแบบเรียลไทม์และการพยากรณ์ดัชนีคุณภาพอากาศ ซึ่งมีพร้อมให้ดูออนไลน์ และผ่านสมาร์ทโฟนแอพ อย่างเช่น Asia Air Quality (Android), Global Air Quality (Android) และ Air Quality Index (iOS)

ในช่วงที่ระดับมลพิษสูงขึ้น ควรปฏิบัติดังนี้

ลดกิจกรรมนอกบ้าน : อันตรายความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้จากมลพิษในอากาศจะเพิ่มขึ้นหากทำกิจกรรมนอกบ้านที่ใช้กำลังมาก ตามระยะเวลาที่อยู่กลางแจ้ง และระดับความรุนแรงของมลพิษ ดังนั้น เราสามารถลดอันตรายลงได้โดยลดระดับการใช้กำลัง (ตัวอย่างเช่น เดินแทนที่จะวิ่งเหยาะๆ) ลดเวลาอยู่กลางแจ้งลง และวางแผนเลี่ยงทำกิจกรรมในช่วงเวลาหรือในพื้นที่ที่มีมลพิษสูง อย่างเช่นถนนที่มีการจราจรติดขัดและทางหลวงที่มีผู้ใช้หนาแน่น

อยู่ภายในอาคารเมื่อระดับมลพิษสูง : เมื่อระดับมลพิษขึ้นสูงขนาดที่เป็นอันตราย ให้พิจารณาการอยู่ภายในอาคารและย้ายไปทำกิจกรรมภายในอาคาร เช่น แทนที่จะออกกำลังบริหารร่างกายกลางแจ้ง ให้มาออกกำลังในโรงยิมแทนเพื่อใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมที่อากาศสะอาดกว่า

ปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคาร : ปิดหน้าต่างให้หมดในช่วงมลพิษสูง ปรับเครื่องปรับอากาศให้ใช้อากาศภายในอาคารหมุนเวียนแทนที่จะดึงเอาอากาศภายนอกเข้ามา พิจารณาการใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีเครี่องกรองอนุภาคฝุ่นละอองที่มีประสิทธิภาพสูง ทั้งนี้เพื่อลดระดับอนุภาคภายในอาคาร คอยดูแลให้บริเวณแวดล้อมบ้านปราศจากควัน และหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งที่มีการเผาไหม้ เช่น เทียน การปิ้งย่าง หรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่ทำให้เกิดควัน

สวมหน้ากากป้องกันทางเดินหายใจที่เหมาะสม : เมื่อสวมอย่างถูกต้องแล้ว หน้ากากป้องกันทางเดินหายใจจะสามารถกรองอนุภาคฝุ่นละอองที่สร้างมลพิษในอากาศได้สูงถึงร้อยละ 99 (หน้ากาก N95 กรองได้อย่างน้อยร้อยละ 95 ส่วนหน้ากาก N99 กรองได้ร้อยละ 99) แต่หน้ากากเหล่านี้จะใช้การได้ดีก็ต่อเมื่อสวมอย่างถูกต้องเท่านั้น ดังนั้น ต้องแน่ใจว่าสวมตามวิธีการที่ระบุไว้และหมั่นตรวจสอบให้หน้ากากรกระชับกับหน้าอย่างเหมาะสม อนึ่ง ควรเข้าใจว่าหน้ากากป้องกันทางเดินหายใจต้านมลพิษไม่เหมือนกับกับหน้ากากที่แพทย์และพยาบาลใส่ในห้องผ่าตัด หรือหน้ากากที่ทำจากผ้าหรือกระดาษ – ซึ่งหน้ากากพวกนี้ไม่มีประสิทธิผลเลยโดยสิ้นเชิงในการต้านมลพิษในอากาศจากอนุภาคฝุ่นละออง หน้ากาก N95 และ N99 มีจำหน่ายตามร้านค้าส่วนใหญ่ที่ขายผลิตภัณฑ์ปรับปรุงที่อยู่อาศัยและผลิตภัณฑ์เพื่อความปลอดภัย

สนใจสังเกตอาการ : อาการเรื้อรังต่อเนื่องอย่างเช่น การหายใจลำบาก รู้สึกเหนื่อยล้าผิดปกติ หรือไอรุนแรง อาจเป็นสัญญาณที่บ่งถึงปัญหาที่มีสาเหตุเกี่ยวกับสภาพปอดหรือการทำงานของปอด รีบปรึกษาแพทย์หากมีอาการใหม่ๆ ที่แสดงถึงปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจหรือระบบทางเดินหายใจ หรือสังเกตว่าสุขภาพแย่ลง

ข่าวที่น่าสนใจ