สสส.จับมือศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาคและเครือข่าย 50 โรงเรียนทั่วประเทศ กระตุ้นเด็กไทยตื่นรู้ภัยท้องถนน ผ่านนิทรรศการชุดนักสืบจราจร
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในโอกาสเปิดตัวนิทรรศการชุดนักสืบจราจรว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการบาดเจ็บและพิการของเด็กไทย ในแต่ละปีมีเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 0-24 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 5,453 คน บาดเจ็บและพิการมากถึง 73,612 คน ส่วนพาหนะที่เกิดเหตุมากสุดยังคงเป็นรถจักรยานยนต์ โดยมีเด็กไทยเพียง 7% เท่านั้นที่สวมใส่หมวกกันน็อก
ทั้งนี้ พบว่า 6 นาทีคือเวลาส่วนใหญ่ที่เกิดอุบัติเหตุจักรยานยนต์หลังออกเดินทาง ซึ่งไม่ไกลจากบ้าน โครงการดังกล่าวจึงไม่เพียงแค่เสริมการเรียนรู้ให้เด็ก แต่ยังสร้างเครื่องมือการเรียนการสอนให้กับครู และโรงเรียน เพื่อเสริมทักษะการใช้ชีวิตประจำวันกับการเรียนรู้เรื่องจราจร โดยเชื่อว่าความรู้นี้จะช่วยสร้างให้เด็กและเยาวชน เป็นกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่การรู้วินัยจราจรจนเกิดเป็นสังคมที่ปลอดภัยได้
นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า อุบัติเหตุจราจรเป็นปัญหาด้านสุขภาวะที่จำเป็นต้องสื่อสารสร้างการรับรู้และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. มีบทบาทสร้างความเข้าใจและขยายฐานความรู้ในประเด็นสุขภาวะด้านต่างๆ จึงเล็งเห็นแนวทางความร่วมมือกับศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค และม.ขอนแก่น โดยได้นำนิทรรศการไปจัดแสดงให้กับประชาชนในพื้นที่คาดว่า ผู้เข้าร่วมจะสามารถเรียนรู้และจดจำหลัก 4 ห้าม 3 ต้อง ได้แก่ ห้ามโทร ห้ามเล่น ห้ามเร็ว ห้ามดื่มแล้วขับ ต้องมอง ต้องสวม ต้องคาด นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งบอร์ดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนขนาดย่อ ภายในโรงเรียนเครือข่ายอีก 50 แห่งทั่วประเทศ
ด้านนายเจริญชัย ขวัญสุข หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา โรงเรียนวัดยานนาวา เขตสาทร กล่าวว่า ทางโรงเรียนได้ขานรับยุทธศาสตร์มหานครแห่งความปลอดภัย ภายใต้แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี โดยจัดให้มีการบูรณาการความรู้ด้านความปลอดภัยในชีวิตเข้าไปในวิชาสุขศึกษา พลศึกษา ลูกเสือ การประชุมผู้ปกครอง พร้อมสำรวจเส้นทางการเดินทางไปกลับของนักเรียน โดยภายหลัง สสส. นำบอร์ดความรู้ขนาดย่อไปติดตั้งภายในโรงเรียน พบว่าเด็กให้ความสนใจชมอย่างมาก หลังจากนี้จึงเตรียมจะนำคณะนักเรียนระดับปฐมศึกษา 1-6 มาเยี่ยมชมนิทรรศการนักสืบจราจรแบบเต็มรูปแบบที่ สสส. เพราะเชื่อว่าจะสามารถสร้างการจดจำได้มากกว่าการท่องจำตำรา
สำหรับ พื้นที่ติดตั้งนิทรรศการนักสืบจราจร 10 แห่ง ได้แก่ 1.กรุงเทพมหานคร : อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. เริ่ม 8 ม.ค.-15 ก.พ. 2.ฉะเชิงเทรา ศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา(KCC) เริ่ม 16 ก.พ.-24 มี.ค. 3.นครสวรรค์ ศูนย์วิทยาศาสตร์นครสวรรค์ เริ่ม 26 มี.ค.-9 เม.ย. 4.น่าน รพ.น่าน : เริ่ม 12-26 เม.ย. 5.ลำปาง ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาลำปาง เริ่ม 28 เม.ย.-13 พ.ค. 6.ยะลา อุทยานการเรียนรู้ยะลา เริ่ม 18 พ.ค.-1 มิ.ย.
7.ภูเก็ต อุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต เริ่ม 4-18 มิ.ย. 8.อุดรธานี ห้องสมุดประชาชนเทศบาลนครอุดรธานี เริ่ม 24 มิ.ย.-8 ก.ค. 9.ขอนแก่น พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพ.สธ. ม.ขอนแก่น เริ่ม 11-25 ก.ค. 10.ร้อยเอ็ด ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ด เริ่ม 28 ก.ค. และตั้งเป็นนิทรรศการถาวร ติดต่อประสานเข้าชมนิทรรศการนักสืบจราจรได้ที่ 02-343-1500