การทำงานแบบยืดหยุ่น แนวโน้มการทำงานที่มาแรงจนหลายองค์กรยักษ์ใหญ่เริ่มลงมือใช้จริงปฏิบัติจริง
จากงานวิจัยล่าสุดของ CIPD เกี่ยวกับ Flexible Working หรือการทำงานแบบยืดหยุ่น ซึ่งเป็นแนวโน้มการทำงานของผู้คนในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในสหรัฐ ที่ถือว่าเป็นแนวโน้มที่กำลังมาแรงจนหลายองค์กรยักษ์ใหญ่เริ่มลงมือใช้จริงปฏิบัติจริง ส่วนจะมีแบบไหน และจะเหมาะกับคนไทยบ้างหรือไม่ ไปดูกัน
Part-time working องค์กรต่างๆ เริ่มมีการจ้างพนักงานในรูปแบบ part-time มากขึ้น โดยถือว่าเป็นการทำงานประจำ โดยที่พนักงานกลุ่มนี้ไม่ได้ทำงานเต็มเวลา ไม่มีสวัสดิการบางอย่าง แต่มีการตกลงกันว่าจะเข้ามาทำงานวันไหน เวลาไหนบ้าง
Term-time working นับเป็นพนักงานประจำของบริษัท แต่สามารถกำหนดช่วงวันเวลาที่จะมาทำงานและไม่มาทำงานได้ โดยแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ซึ่งช่วงเวลาที่ไม่ได้มาทำงานก็จะไม่ได้รับค่าจ้าง การทำงานลักษณะนี้มีความยืดหยุ่นมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น พนักงานที่มีแผนเรียนต่อ
Flexitime เป็นการเข้าและเลิกงานแบบยืดหยุ่น โดยที่บริษัทจะกำหนดเวลาเข้าและออกงานเป็นช่วงๆ และพนักงานเองก็สามารถที่เลือกเข้างานในช่วงไหนก็ได้ เพียงแต่ต้องมีการแจ้งล่วงหน้า
Compressed hours การทำงานแบบยืดหยุ่นโดยคำนวณเวลาทำงานของพนักงานเป็นรายสัปดาห์ เช่น สัปดาห์หนึ่งต้องทำงาน 40 ชม. ซึ่งหากพนักงานทำงานวันละ 10 ชม. ก็สามารถมาทำงานเพียง 4 วัน และหยุดพัก 3 วัน ซึ่งการทำงานยืดหยุ่นลักษณะนี้เหมาะกับพนักงานที่บ้านอยู่ไกล หรือกรณีที่บริษัทมีการย้ายสถานที่ทำงานไกลจากบ้านพนักงานมากขึ้น ก็จัดให้มีการทำงานลักษณะนี้ขึ้นได้ เพื่อที่จะไม่ต้องเดินทางมาทำงานทุกวัน
Annual hours การกำหนดจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อปี และพนักงานสามารถจัดสรรเวลาการทำงานของตัวเองว่าจะทำมากในช่วงใดและจะหยุดมากในช่วงใด แนวการทำงานแบบนี้ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า และเหมาะสำหรับองค์กรที่มีการทำงานตลอดทั้งปี เช่น งานบริการที่ต้องเปิดให้บริการทุกวัน แต่พนักงานสามารถที่จะวางแผนการทำงานแบบยืดหยุ่นได้ว่าจะทำงานติดกันทุกวันในช่วงใด ช่วงใดที่จะไม่ทำงาน ขอเพียงให้รวมทั้งปีได้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้
Working from home on regular basis เป็นการทำงานจากที่บ้านแบบเต็มเวลา โดยไม่ต้องมาทำงานที่บริษัทเลย อีกแนวโน้มที่หลายบริษัทเริ่มนำมาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่ม Start-up ที่ไม่ต้องเช่าออฟฟิศ แต่ให้ทำงานกันที่บ้าน และนัดประชุมที่ co-working space ซึ่งกำลังเกิดขึ้นมากมาย
Mobile working/Teleworking เป็นการอนุญาตให้พนักงานทำงานนอกสถานที่ได้ เช่น ให้ทำงานนอกสถานที่ได้สัปดาห์ละ 1 วัน พนักงานจะไปนั่งทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่ว่ากัน แต่ต้องมีผลงานส่งให้กับบริษัทตามที่ตกลงไว้
Commissioned outcomes เป็นลักษณะการทำงานที่จะไม่มีการกำหนดเวลาทำงานต่อวันหรือต่อสัปดาห์ แต่จะกำหนดผลลัพธ์ของงานที่จะต้องส่งมอบมากกว่า โดยกำหนดวันส่งมอบและเป้าหมายของงานที่ต้องส่งมอบ ให้อิสระพนักงานไปบริหารจัดการเวลาทำงานของตัวเองในแต่ละวันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของงานตามที่ตกลงกันไว้
Zero-hours Contracts เป็นลักษณะการทำงานที่องค์กรไม่มีการกำหนดวันและเวลาทำงานให้กับพนักงานที่เลือกการทำงานแบบนี้ แต่จะถูกเรียกให้เข้ามาทำงานเมื่อมีงาน และจะจ่ายค่าจ้างตามเวลาที่เข้ามาทำงานเท่านั้น ลักษณะนี้เหมาะกับพนักงานที่เลือกแบบ Freelance มากกว่า