ปรับวิถีชีวิตสู่สมดุลด้วยนวัตกรรมศาสตร์พระราชา
ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งส่งผลสะท้อนกลับมายังความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ที่เราได้รับผลกระทบอยู่ทุกวันนี้ อาทิปัญหาโลกร้อน ที่เกิดขึ้นรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ดังนั้นการตระหนักรู้และจัดการดูแลเพื่อรักษาธรรมชาติไม่ให้ถูกทำลาย และสร้างสมดุลเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ของทุกคน ที่จะต้องมีส่วนร่วมในการหันมาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้คงอยู่สืบต่อไป การทำนุบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติต่างๆที่มีอยู่แล้วให้คงอยู่ การวางแผนจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และการปลูกฝังจิตสำนึก จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กัน
คณะครูอาจารย์ ที่ได้รับการคัดเลือกจากทั่วประเทศได้รับโอกาสมาร่วมกิจกรรม ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 15 ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดําริ จังหวัดเพชรบุรี ที่จัดขึ้นโดยบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี ในครั้งนี้เป็นการรณรงค์สร้างจิตสำนึกการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ปรับวิถีชีวิตสู่สมดุลด้วยนวัตกรรมศาสตร์พระราชา
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาป่าไม้อเนกประสงค์มุ่งหมายศึกษารูปแบบการพัฒนาเกษตรกรรมควบคู่ไปกับการปลูกป่า เพื่อฟื้นฟูสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรและปลูกป่า จัดสรรที่ทำกินให้กับราษฎร ที่ได้เข้ามาบุกรุกทำกินอยู่แต่เดิมให้ได้เข้าอยู่อาศัย และให้ความรู้กับราษฎร ให้ทำการเกษตรอย่างถูกวิธี รวมทั้งให้มีส่วนร่วมในการปลูกป่า ดูแลรักษาป่า ตลอดจนให้ได้รับประโยชน์จากผลผลิตของป่า เพื่อที่ราษฎรจะได้ไม่บุกรุกทำลายป่าอีกต่อไป เป็นการดูแลทรัพยากรที่สำคัญ ทั้งคนและสิ่งแวดล้อม
ที่ศูนย์นี้เคยประสบกับปัญหาพื้นที่ป่าไม้ถูกทำลาย ดินขาดการบำรุงรักษาทำให้ธรรมชาติขาดความสมดุล เกิดความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล มีปริมาณฝนลดลง และเมื่อเวลามีฝนตกฝนจะตกหนัก เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการชะล้างพังทะลาย หน้าดินถูกกัดเซาะเป็นร่องลึก เนื่องจากไม่มีพืชคลุมดินเป็นสิ่งกีดขวางการไหลบ่าของน้ำ
“หญ้าแฝก” จึงเป็นพืชที่เหมาะสมในการนำมาปลูกเพื่อพัฒนาพื้นดินบริเวณนี้ เพื่อการใช้ประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ ชะลอและเก็บกักน้ำให้ดินชุ่มชื่น ตลอดจนการดูแลสิ่งแวดล้อมในด้านการช่วยบำบัดน้ำเสียได้อีกด้วย ซึ่งคณะครู อาจารย์ก็ได้ร่วมลงมือทำกิจกรรมปลูกหญ้าแฝก เพื่อเป็นการเรียนรู้และสร้างประสบการณ์การอนุรักษ์ธรรมชาติด้วยการลงมือปฏิบัติจริง
พ.ต.อ.พันศักดิ์ สมันตรัฐ ผอ.ศูนย์ฯ กล่าวว่า “นอกเหนือจากการดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว การดูแลประชาชนในพื้นที่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน ดังนั้น ความรู้ด้านการตลาดก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชาวบ้าน” ซึ่งได้ยกตัวอย่างการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ที่ชาวบ้านเพาะปลูก อาทิ การแปรรูปน้ำอ้อย จากเดิมที่การขายเป็นลำอ้อย ให้ปรับมาขายเป็นแก้ว ที่ได้ราคามากกว่า หรือการเพาะปลูกอย่างไร เพื่อให้ได้ผลผลิตเก็บเกี่ยวออกมาขายได้ทุกวัน อย่างเช่นการปลูกผักบุ้งที่มีการวางแผนการปลูกอย่างเป็นระบบ เป็นต้น
“หลักการที่สำคัญในการบริหารจัดการและการดูแลชาวบ้านเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพและอยู่อย่างมีความสุข คือการร้อยเรียงเรื่อง การบูรณาการด้านวิชาการ โดยมีภูมิปัญญาท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่” ให้สอดคล้องไปด้วยกัน ผอ.ศูนย์สรุป
ซึ่งการทำกิจกรรมที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นี้ ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด และประธานมูลนิธิธรรมดี ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า “ที่ศูนย์นี้ ถือเป็นห้องเรียนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ ที่เป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติ ป่าชายหาด และป่าชายเลน เป็นสมบัติของโลกใบนี้ที่เราควรต้องช่วยกันดูแลรักษาฟื้นฟูอนุรักษ์ธรรมชาติให้กลับมาเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต และช่วยให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี การพยายามออกจากห้องเรียนสี่เหลี่ยมจะช่วยให้เราได้เข้าถึงธรรมชาติและสามารถเรียนรู้จากธรรมชาติได้ทุกเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการเกษตรเท่านั้น แต่ยังบูรณาการไปถึงเรื่องเศรษฐกิจ การตลาด เชื่อมโยงไปถึงอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงการท่องเที่ยว ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องที่ ได้อีกด้วย”
คณะครู อาจารย์ และผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ยังได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมและทำกิจกรรม ณ ศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตรเขากระปุก ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้รับเกียรติจาก คุณหญิง ผกาพันธ์ เทหะมาศ ผู้อำนวยการวังไกลกังวล ร่วมบรรยายให้ข้อมูล ซึ่งศูนย์นี้เป็นศูนย์การเรียนรู้การทำเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี การปลูกผักปลอดสารพิษ ซึ่งกิจกรรมที่ทางคณะได้ลงมือทำ คือการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร (การทำหมี่กรอบฟักข้าว) การทำน้ำยาสมุนไพรเอนกประสงค์ และการทำปุ๋ยมูลไส้เดือน ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมเนื่องจากสามารถนำความรู้ไปเผยแพร่ และต่อยอดได้อีกเช่นกัน
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ทิพยประกันภัย ดูแลสังคมมาอย่างต่อเนื่อง จากโครงการ “ทิพยทำความดีไม่มีสิ้นสุด” โดยได้จัดกิจกรรมให้ครอบคลุมการช่วยเหลือสังคมทุกมิติ แต่อีกด้านที่เราไม่ควรละเลยนั่นคือ “สิ่งแวดล้อม” ที่เป็นทรัพยากรสำคัญของโลกใบนี้ การที่คณะครู อาจารย์ และผู้ที่สนใจได้มาร่วมทำกิจกรรมที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี จะได้ประสบการณ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องของการอนุรักษ์ผืนดิน ป่า และน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงคิดไว้มานานแล้ว คนที่เห็นประโยชน์และเข้าถึงหลักคิดนี้ได้คือคนที่อยู่กับโลกอนาคต เราต้องช่วยกัน ลงมือกระทำ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะโลกร้อนและผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา ถ้าทุกคนร่วมแรงร่วมใจพร้อมใจกันทำ จะทำให้ธรรมชาตินั้นค่อย ๆ ฟื้นฟูตัวเองและกลับมาเป็นธรรมชาติอันสมบูรณ์”.
สำหรับกิจกรรมครั้งต่อไป ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 16 จะจัดขึ้น ในวันที่ 19-20 มีนาคม 2565 ณ โครงการพัฒนาที่ดิน มูลนิธิชัยพัฒนา บ้านเกาะคู อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน รวมทั้งเดินทางไปยังเขาค้อเพชรบูรณ์ วัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว
หน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจร่วมเรียนรู้นวัตกรรมศาสตร์พระราชา สามารถติดต่อได้ที่มูลนิธิธรรมดี เว็บไซต์ http://www.do-d-foundation.com แฟนเพจ: ตามรอยพระราชา-The King's Journey Facebook: มูลนิธิธรรมดี และ LINE Official: @dfoundation